วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การพัฒนาทีมงานแบบ Walk Rally ได้ผลจริงหรือไม่

การพัฒนาทีมงานแบบ Walk Rally ได้ผลจริงหรือไม่
ณรงค์วิทย์ แสนทอง. (2551). การพัฒนาทีมงานแบบ Walk Rally ได้ผลจริงหรือไม่. ค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2551, จาก http: // www. hrcenter.co.th / HRKnowView . asp?id = 51 & mode = disp

สรุปสาระสำคัญ
การพัฒนาทีมงานแบบ walk rally มีความสำคัญจริง แต่มีหลายองค์กรที่ได้นำกิจกรรมนี้มาใช้ในการพัฒนาทีมงานแบบ "แฟชั่น" คนที่ผ่านกิจกรรม walk rally แล้ว กลับมาทำงานใหม่ ๆ รู้สึกรักกันมาก มีความผูกพันช่วยเหลือกันดี แต่พอกลับไปนาน ๆสิ่งดี ๆ เหล่านั้นค่อย ๆ จางหายไป และหมดไปในที่สุด เป็นอย่างนี้เกือบทุกองค์กร ส่วนสำคัญที่สุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับรูปแบบของการอบรมหรือสัมมนา แต่ขึ้นอยู่กับว่าองค์กรได้พัฒนาคนได้ถูกทาง เหมาะสมและต่อเนื่องหรือไม่ ถ้าการทำกิจกรรม walk rally ในครั้งนั้นขาดการวางแผนแม่บทในการพัฒนาคนขององค์กร หมายถึง ไม่สามารถเชื่อมโยงกิจกรรม walk Rally ไปสู่เป้าหมายพฤติกรรมหลักขององค์กรได้, ขาดการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ชัดเจน, รูปแบบของกิจกรรมไม่สัมพันธ์กับพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นในองค์กร, ขาดการพัฒนาและติดตามผลอย่างต่อเนื่องในระยะยาว,ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังจากผู้บริหารระดับสูง หรือ มุ่งเน้นความสนุกสนานและความบันเทิงมากกว่าการพัฒนาความคิดที่แท้จริง ดังนั้นองค์กรควรที่จะมีกระบวนการในการพัฒนาพฤติกรรมคนในองค์กร ซึ่งได้แก่การกำหนดแผนแม่บทด้านพฤติกรรมของคนในองค์กรขึ้นมาก่อน เช่น วัฒนธรรมองค์กร, กำหนดพฤติกรรมที่ต้องการในแต่ละด้าน เช่น พฤติกรรมการเป็นผู้นำ พฤติกรรมการคิดสร้างสรรค์ พฤติกรรมในการวางแผนงาน พฤติกรรมในการบริการลูกค้า ฯลฯ และกำหนดทางเลือกในการพัฒนาพฤติกรรมที่ต้องการในแต่ละด้านว่ามีทางเลือกอะไรบ้าง เช่น การส่งไปฝึกอบรมภายนอก การศึกษาต่อ การทำกิจกรรม walk rally การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (workshop) และกำหนดแผนกลยุทธ์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวในการพัฒนาพฤติกรรมคนให้สอดคล้องกับแผนพฤติกรรมแม่บทขององค์กร สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยสามารถตอบได้ว่ากิจกรรม walk rally อยู่ตรงไหนของแผนงานนั้น ๆ

วิเคราะห์ วิจารณ์
โลกแห่งการทำงานในปัจจุบัน คงไม่มีใครปฏิเสธการทำงานแบบเป็นทีม เพราะการทำงานแบบนี้ จะนำเอาทักษะการทำงานของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน มาเสริมซึ่งกันและกัน ทีมงาน จึงหมายถึงกลุ่มของผู้ซึ่งทำงานร่วมกันรับผลกระทบของงานที่ทำร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน และพึ่งพากันในการทำงาน ทีมงานจะประสบความสำเร็จได้ ต้องขึ้นอยู่กับการวางรากฐานในการสร้างทีมขึ้นมา (kunaret, 2549) กระบวนการที่จำเป็นของการทำงานเป็นทีม คือ การเปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา มีการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อให้ได้ข้อมูลในการตัดสินใจร่วมกันเป็นผลดีในการสร้างความสามัคคี และการทำงานเป็นกลุ่ม ทีมงานนับว่ามีความสำคัญต่อการทำงานในองศ์การเป็นอย่างมากเรา เพราะงานส่วนใหญ่ไม่สามารถทำสำเร็จได้โดยคนคนเดียว ต้องอาศัยทีมงานเป็นสำคัญ ซึ่งบางครั้งองค์กรมีงานเร่งด่วนที่ต้องการทีมงาน ก็ต้องระดม ทีมงานปฏิบัติเพื่อเสร็จทันเวลา ในทีมงานที่มีประสิทธิภาพจะมีผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ร่วมทีมกันทำให้สามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งรอบคอบ สามารถระดมความคิดจากสมาชิกทั้งความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และความคิดที่จะพัฒนา ปรับปรุงวิธีการทีมงานให้บรรลุเป้าหมาย การเรียนรู้ที่ดีที่สุดของมนุษย์คือการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ซึ่งไม่มีใครสอนสอนประสบการณ์นั้นให้ได้ แต่ประสบการณ์ตรงต้องเกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ทดลอง หรือการลองผิดลองถูก (learning by doing) ผู้ที่เขารับการฝึกอบรมจะได้ลงมือทำกิจกรรมและสามารถเรียนรู้จากสิ่งที่ปรากฏใน กรณีต่าง ๆ โดยแท้จริงแล้วธรรมชาติของมนุษย์แล้วนั้นจะมีความแตกต่างกันโดยนัยสำคัญ และในบางครั้งความแตกต่างหรือความขัดแย้งก็ย่อมทำให้เกิดอะไรขึ้นใหม่ ๆ เช่นเกิดทฤษฎีใหม่ แนวทางปฏิบัติใหม่ และในทางกลับกันอาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ซึ่งส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของการทำงานเป็นทีมลดลง ล้วนก่อให้เกิดปัญหา เช่น คนในองค์กรขาดความสมัครสมานสามัคคีกัน ขาดการประสานงานที่ดี ขาดประสิทธิภาพของการสื่อสารในองค์กร ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ขาดการเป็นผู้นำที่ดีและผู้ตามที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ที่กล่าวมาแล้ว (อำนาจ วัดจินดา, 2551) หากมีการฝึกอบรมในห้องเรียนปกติก็คงไม่ได้ผลเท่าที่ควร เหตุเพราะเขาเหล่านั้นต้องได้เรียนรู้ด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดพลังทีมอันยิ่งใหญ่ในการพัฒนางานและพัฒนาองค์กร จึงทำให้มีการจัดกิจกรรม walk rally กันขึ้น โดยการผ่านกิจกรรมในด่านต่าง ๆ เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้เนื่องมาจากเกมมีการแข่งขัน มีการแพ้ ชนะเกิดขึ้นซึ่งทำให้เกิดความน่าสนใจในการเรียนรู้มากขึ้น โดยการเรียนรู้จากเกมคือการคิดทบทวนว่าเพราะเหตุใดทีมจึงแพ้ และเพราะเหตุใดทีมจึงชนะ ซึ่งจะทำให้มีการเรียนรู้เกิดขึ้น กล่าวคือมีการสำรวจหาข้อพกพร่องของทีมของตนเองและหาวิธีการแก้ไข ส่วนใหญ่การใช้เกมมักใช้ในการเรียนรู้ด้านพฤติกรรม เช่นการปรับทัศนคติ (attitude) ของผู้เรียน

ข้อเสนอแนะ
ทีมงานที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้จากการรวมตัวกัน เพราะ หากไม่สามารถรวมตัวกันได้ทีมย่อมไม่เกิดการตัดสินใจ และการตัดสินใจของทีมที่ดีที่สุดนั้น ควรเกิดจากการลงมติเป็นความเห็นร่วมกัน ควรหลีกเลี่ยงการตัดสินใจด้วยวิธีการโหวต ทั้งนี้เพื่อไม่ให้มีใครรู้สึกว่าเป็นฝ่ายแพ้ และจะได้ร่วมกันทำงานเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายของทีมต่อไป โดยมีการสื่อความภายในกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพ ประสานกลุ่มอื่น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของทีมและขององค์กรโดยรวม นอกจากนี้ความไว้ใจ คือ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจภายในทีม และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรารู้จักไว้ใจคนอื่น และขณะเดียวกันเราก็ต้องทำตัวให้คนอื่นไว้ใจด้วยเช่นกัน ซึ่งเหล่านี้ คือ บทบาทเพื่อการพัฒนาทีมให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ



บรรณานุกรม

kunaret. (2549). การสร้างทีมงาน Team Building. ค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2551, จาก http://www.212cafe.com/freewebboard/view.php?user=huiraischool&id=1
อำนาจ วัดจินดา. (2551). การเรียนรู้โดยหลักสามัญสำนึก. ค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2551, จาก http://www.hrcenter.co.th/HRKnowView.asp?id=484&mode=disp

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น