วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทฤษฎีสู่การเรียนรู้

ทฤษฏีสู่การเรียนรู้
ไตรภพ จันทร์ศรี. (2551). ทฤษฏีสู่การเรียนรู้. ค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2551, จาก http:// www.triphopchansri.multiply.com/journal/item/6


สรุปสาระสำคัญ
ทฤษฎีสู่การเรียนรู้ คือ สิ่งที่ช่วยเป็นแนวทางช่วยให้เราเลือกใช้เครื่องมือในการเรียนการสอนเทคนิค และวิชาต่างๆ วิธีการที่ส่งเสริมสนับสนุนการเรียนรู้ ซึ่งทฤษฎีการเรียนรู้ มีด้วยกัน 3 ทฤษฎี อันดับแรก คือ พฤติกรรมนิยม (behaviorism) โดยมีครูผู้สอนเป็นผู้คอยกำหนดและควบคุมสภาพแวดล้อมต่อผู้เรียน โดยเน้นไปที่พฤติกรรมการเสริมแรง มีวิธีการสอน ได้แก่ การสอนตรง ๆ หรือการแสดงให้ดู, การให้ทำแบบฝึกหัด ปฏิบัติ หรือกระทำซ้ำ ๆ และ การสอนเกมต่าง ๆ ซึ่งผู้เรียนก็จะได้ทักษะพื้นฐานเบื้องต้น แต่การเรียนรู้ในแนวพฤติกรรมนิยมนี้ ผู้เรียนไม่สามารถนำไปใช้แก้ปัญหา หรือ การคิดสร้างสรรค์ได้ เพราะผู้เรียนจะทำตามที่ผู้สอนได้คอยกำหนดไว้ เพียงแต่ผู้เรียนสามารถที่จะระลึกได้ในข้อเท็จจริงพื้นฐานต่าง ๆ เท่านั้น และมีการตอบสนองอย่างอัตโนมัติ ทฤษฏีอันดับที่สอง คือ การประมวลผลสารสนเทศทางปัญญา (cognitive information processing, CIP) คือกระบวนการคิดก่อนแสดงพฤติกรรม โดยที่ผู้เรียนต้องสามารถจำแนกแยกแยะไตร่ตรอง และประมวลข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ให้ได้อย่างมีเหตุมีผล เช่น มีการจัดโต้เถียงอภิปรายโดยมีการให้เหตุผล, มีการแก้ปัญหาในโครงการที่ยุ่งยากลำบาก, การเปรียบเทียบคำ สำนวนต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งผู้เรียนจะต้องมีองค์ความรู้พื้นฐานในเรื่องนั้น ๆ อยู่บ้าง และทฤษฏีอันดับสุดท้าย ได้แก่ การสร้างสรรค์องค์ความรู้ด้วยปัญญา (constructivism) การเรียนรู้ในทฤษฏีนี้เป็นการแสดงให้เห็นฐานประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และโครงสร้างองค์ความรู้ภายในแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้เรียนได้มีโอกาสในการแก้ปัญญา และนำไปประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความจริงได้ เช่น การตั้งกรณีศึกษา (case studies) เพื่อแก้ปัญหา, การฝึกงาน, การเรียนรู้โดยการสืบค้น ฯลฯ
ทฤษฏีสู่การเรียนรู้ทั้ง 3 แบบนี้ มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ควรที่จะต้องพิจารณา ระดับองค์ความรู้ของผู้เรียน และระดับการประมวลผลทางสติปัญญา ซึ่งผู้สอนสามารถที่จะหมุนเวียนทฤษฏีการเรียนรู้ได้ ยกตัวอย่างเช่น บางวิชาที่ผู้เรียนยังไม่มีประสบการณ์อาจใช้รูปแบบพฤติกรรมนิยม พอมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นแล้ว การจัดการเรียนการสอนในการประมวลผลข้อมูล เพื่อแยกแยะ และสามารถพัฒนาเป็นการสร้างสรรค์ความรู้ทางปัญญา ซึ่งเมื่อมีความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมา ก็จะกลับไปที่รูปแบบพฤติกรรมนิยมเหมือนเดิม หมุนเวียนสลับกันไปแบบนี้อย่างต่อเนื่อง

วิเคราะห์ วิจารณ์
ทฤษฏีสู่การเรียนรู้ จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ที่ผู้สอนได้คอยควบคุม ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะประมวลผลข้อมูล กับ สิ่งแวดล้อม ที่ได้เกิดจากการสั่งสอน, การแสดงให้ดู, การให้ฝึกปฏิบัติซ้ำ ๆ หรือ การเล่นเกมต่าง ๆทฤษฏีสู่การเรียนรู้จะช่วยให้เกิดการการสนองตอบโดยอัตโนมัติ ซึ่ง แก้วกล้า มีชัยโย (2551) ได้กล่าวไว้โดยมีแนวคิดจากทฤษฏีพฤติกรรมนิยม ซึ่งถือว่าสิ่งแวดล้อมหรือประสบการณ์ จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม และการเรียนรู้ โดยมีการเชื่อมโยงระหว่างวัตถุหรืออินทรีย์ ซึ่งเรียกว่า สิ่งเร้า (stimulus) เมื่อมากระตุ้นอินทรีย์ จะมีพฤติกรรมออกมาเรียกว่า การตอบสนอง (response) ซึ่งจะทำให้เกิดการสะท้อนกลับ (reflex) เป็นไปโดยอัตโนมัติ หรือการเรียนรู้อาจเกิดขึ้นเพราะความใกล้ชิด นอกจากนี้แรงเสริม (socialscience, 2551)ยังทำให้ผู้เรียนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมซึ่งเป็นการกระทำต่อสิ่งแวดล้อมในลักษณะที่ว่าเป็นผลของอัตราการตอบสนองเปลี่ยนแปลงได้ ทำให้เกิดการสร้างลักษณะนิสัยใหม่ ๆ เป็นสิ่งที่มาเพิ่มกำลังให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า กับ การตอบสนองเช่น รางวัล การตำหนิ การลงโทษ การชมเชย เงิน ของขวัญ หรือสิ่งล่อใจ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการสร้างแบบแผนของพฤติกรรมการเรียนรู้ในแต่ละบุคคล และทำให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงเกิดกระบวนการคิดก่อนพฤติกรรม เพราะได้มีประสบการณ์ และนำองค์ความรู้ที่ได้มีนำมาประยุกต์ สร้างสรรค์ แก้ปัญหาต่าง ๆในชีวิตจริงได้


ข้อเสนอแนะ
ทฤษฏีสู่การเรียนรู้ เป็นกระบวนการหนึ่งที่จัดขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคล ซึ่งมีผลมาจากประสบการณ์ การฝึกฝน เพื่อสนองความต้องการ การแก้ปัญหา ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้จาก ความรู้ทางทักษะในการฝึกฝน ท่องจำ, ความรู้สึกที่ได้มาจากสิ่งเร้า สิ่งแวดล้อม ครูผู้สอน สื่ออุปกรณ์การสอน ครอบครัว และสังคม อีกทั้งกระบวนการจัดการเรียนการสอน แรงจูงใจ ซึ่งมีการตอบสนองจากผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนสนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้หลาย ๆ ครั้ง จนทำให้เกิดมีการพัฒนาเป็นนิสัยหรือพฤติกรรมได้


บรรณานุกรม

แก้วกล้า มีชัยโย. (2551). ทฤษฏีการเรียนรู้. ค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2551, จาก http://www.tumcivil.com/engfanatic/board/gen.php?topic_id=1374&hit=1
socialscience. (2551). การเรียนรู้. ค้นเมื่อ 18 สิงหาคม 2551, จาก http://www.socialscience.igetweb.com/index.php?
mo=3&art=15154

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น