วันอาทิตย์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model กับการปรับประยุกต์ใช้ในองค์กร

ทฤษฏีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model
กับการปรับประยุกต์ใช้ในองค์กร
นายสุภาพ ทับทิมไทย


โลกในยุคปัจจุบันเป็นโลกยุคใหม่ที่มีสังคมและเศรษฐกิจตั้งอยู่บนฐานของความรู้ ในองค์กรที่ประสบความสำเร็จล้วนแต่มีบุคลากรซึ่งจัดว่าเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีความรู้ ความปัญญา และมีความสามารถ ก้าวทันต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาของโลก ในแวดวงธุรกิจที่ต่างแข่งขันและในเรื่องของการให้บริการ ในหน่วยงานราชการที่นับต่อแต่นี้ความพึงพอใจของประชาชนถือเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ ความเป็น ผู้รู้งาน รู้คน ของบุคลากรในองค์กรนั้น ๆ มีความสำคัญยิ่งต่ออนาคตและความอยู่รอด ปัจจุบันการจัดการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ถือใช้กลยุทธ์หนึ่งในการพัฒนาความเป็นผู้รู้งาน รู้คน ให้กับบุคลากรโดยตรงและเป็นตัวเสริมสร้างเขี้ยวเล็บให้กับหน่วยงานโดยอ้อม ซึ่ง วุฒิพล สกลเกียรติ (2546, หน้า 272) ได้กล่าวถึง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นภาระสำคัญที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องรับผิดชอบในการจัดการเรียนรู้ทั้งที่เป็นการศึกษา การฝึกอบรมและการพัฒนา เพื่อให้บุคลากรสามารถนำไปพัฒนาตนเอง สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต และนำไปปรับใช้กับชีวิตประจำวัน ในสังคม และในองค์กรได้ ซึ่งทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogy เป็นทฤษฏีที่ช่วยให้นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เข้าใจถึงความต้องการในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล (2550) ได้อ้างถึง ความเชื่อเบื้องต้นของทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogy ซึ่งเป็นศาสตร์และศิลป์ในการช่วยเหลือให้ผู้ใหญ่เรียนรู้ คือ (1) บุคคลมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง (unique) นั่นคือ บุคคลมีความแตกต่าง (individual differences) (2) คนต้องการพัฒนาไปในทางที่ดีตามศักยภาพ (potential) ของตน (3) การเรียนรู้เป็นกระบวนการภายในของผู้เรียน (internal process) บุคคลภายนอกเป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกการเรียนรู้ ตัวผู้เรียนรับผิดชอบกระบวนการเรียนรู้โดยสิ้นเชิง และ (4) บุคคลต้องการชี้นำตนเอง (self-directing)
ความเชื่อเบื้องต้นต่าง ๆ เหล่านี้นำไปสู่สมมติฐานและ ทฤษฏีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model ซึ่งได้แก่ (1) ความต้องการรู้ (need to know) (2) มโนทัศน์ของผู้เรียน (the learner’s self concept) (3) บทบาทของประสบการณ์ของผู้เรียน (the role of the learner’s experience) (4) ความพร้อมที่จะเรียนรู้ (readiness to learn) (5) การนำไปสู่การเรียนรู้ (orientation to learning) และ (6) แรงจูงใจ (motivation) สมมติฐานต่าง ๆ เหล่านี้นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สามารถนำไปใช้เป็นกรอบในการคิดออกแบบ “รูปแบบของประสบการณ์การเรียนรู้” (design of learning experience format) เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่ตามวัตถุประสงค์ เป้าหมายขององค์กร ให้สอดคล้องกับ บริบทแวดล้อม และคุณสมบัติของผู้เรียนผู้ใหญ่

ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model
ความต้องการรู้ (need to know)

ผู้ใหญ่ต้องการรู้เหตผลในการเรียนรู้ และผู้ใหญ่จะเรียนรู้ต่อเมื่อเขาต้องการจะเรียน เนื่องจากผู้ใหญ่นั้นเข้าใจตนเอง และรู้ว่าตนเองมีความรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจของตนเองได้ ซึ่งก่อนการเรียนรู้ผู้ใหญ่มักต้องการจะรู้ว่า เพราะเหตุใดหรือทำไมจึงจำเป็นจะต้องเรียนรู้ จะได้รับประโยชน์อะไรจากการเรียนรู้ และจะสูญเสียประโยชน์อะไรถ้าไม่ได้เรียนรู้ในสิ่งเหล่านั้น ผู้ใหญ่จึงมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้และพึงพอใจ มากกว่าจะให้ผู้อื่นมากำหนดให้ Tough (อ้างถึงใน วุฒิพล สกลเกียรติ, 2546, หน้า 111) พบว่า เมื่อผู้ใหญ่จะเรียนอะไรบางอย่างด้วยตนเอง เขาจะตรวจสอบดูว่าผลประโยชน์ที่จะได้จากการเรียนรู้มีมากน้อยเพียงใด และถ้าไม่ได้เรียนแล้วผลจะเป็นเช่นใด ตามหลักการหนึ่งของการศึกษาผู้ใหญ่ ที่มอบให้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ต่อการเรียนรู้ที่จะต้องช่วยเหลื่อผู้เรียนให้ได้รับรู้ถึง ความต้องการรู้ อย่างน้อยที่สุดผู้อำนวยความสะดวกอาจชี้ให้เห็นคุณค่าของการเรียนรู้ ที่จะช่วยแก้ไขประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานของผู้เรียนหรือคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สำหรับเครื่องมือที่ช่วยให้เขายกระดับการรับรู้ ความต้องการรู้ นั้นอาจจะเป็นเรื่องจริงหรือเรื่องสมมุติขึ้นก็ได้ และสามารถทำให้ผู้เรียนได้ค้นพบช่องว่างที่เกิดขึ้นระหว่าง ณ จุดที่เขาเป็นอยู่ในปัจจุบันกับ ณ จุดที่เขาต้องการจะเป็นในอนาคต ตัวอย่างเครื่องมือที่ใช้ได้แก่ ระบบประเมินบุคลากร (personnel appraisal systems) การหมุนงาน (job rotation) การประเมินความสามารถในการปฏิบัติงานด้านวิเคราะห์ (diagnostic performance assessments) เป็นต้น
สรุป ความต้องการรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่นั้น จะเกิดขึ้นเมื่อผู้เรียนผู้ใหญ่เล็งเห็นว่า การเรียนรู้นั้นเกิดประโยชน์ต่อชีวิตจริง และตระหนักว่าการเรียนรู้สามารถตอบสนองความต้องการ และความสนใจของตนเองได้

มโนทัศน์ของผู้เรียน (the learner’s self concept)
ในกระบวนการเรียนรู้ ผู้เรียนผู้ใหญ่ต้องการที่จะชี้นำตนเองมากกว่าที่จะให้ผู้สอนเป็นผู้ชี้นำ เป็นการรับรู้เปลี่ยนแปลงไป (changes in self-concepts) จากการพึ่งพาผู้อื่นไปสู่การชี้นำตนเอง (self-directedness) เพิ่มขึ้น อมรรัตน์ จันทวงศ์ (2549) ได้กล่าวถึง การเรียนรู้ด้วยตนเอง (self-derected learning) ซึ่งมีแนวคิดพื้นฐานจากทฤษฎีกลุ่มมนุษยนิยม (humanism) ซึ่งมีความเชื่อเรื่องความเป็นอิสระ และความเป็นตัวของตัวเองของมนุษย์ และเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความดี สามารถหาทางเลือกของตนเอง มีศักยภาพและพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างไม่มีขีดจำกัด มีความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นแนวคิดว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพ และมีความโน้มเอียงที่จะใส่ใจ ใฝ่รู้ ขวนขวายเรียนรู้ด้วยตนเอง มนุษย์สามารถรับผิดชอบพฤติกรรมของตนเองและถือว่าตนเองเป็นคนที่มีค่า สอดคล้องกับ Knowles (อ้างถึงใน สรรรัชต์ ห่อไพศาล, 2552) ซึ่งได้กล่าวถึงคุณลักษณะของผู้เรียนผู้ใหญ่ที่มีการเรียนรู้แบบชี้นำตนเอง ว่าควรมีลักษณะ 9 ประการ คือ (1) มีความเข้าใจถึงความแตกต่างของบุคคลในด้านความคิด และทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ ได้แก่ ความแตกต่างระหว่างการเรียนโดยผู้สอนเป็นผู้ชี้นำ ไม่ขึ้นกับผู้ใด และเป็นผู้ที่สามารถควบคุมและนำตนเองได้ (2) มีแนวคิดว่าตนเองเป็นบุคคลที่มีความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ขึ้นกับผู้ใด และเป็นผู้ที่สามารถควบคุม และนำตนเองได้ (3) มีความสามารถในการสร้างสัมพันธ์อันดีกับเพื่อน เพื่อที่จะให้บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้สะท้อนให้ทราบถึงความต้องการในการเรียนรู้ การวางแผนการเรียนของตนเองรวมทั้งการช่วยเหลือผู้อื่น ตลอดจนการได้รับความช่วยเหลือกลับจากบุคคลเหล่านั้น (4) มีความสามารถในการวิเคราะห์ความต้องการในการเรียนรู้อย่างแท้จริง โดยการร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้อง (5) มีความสามารถในการกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้จากความต้องการ ในการเรียนรู้ของตนเองโดยเป็นจุดมุ่งหมายที่สามารถประเมินผลสำเร็จได้ (6) มีความสามารถในการเชื่อมความสัมพันธ์กับผู้สอนเพื่อขอความช่วยเหลือ หรือขอคำปรึกษา (7) มีความสามารถในการแสวงหาบุคคล และแหล่งวิทยาการที่เหมาะสมสอดคล้องกับจุดประสงค์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน (8) มีความสามารถในการเลือกแผนการเรียนที่มีประสิทธิภาพ โดยใช้ประโยชน์จากแหล่ง วิทยาการต่าง ๆ มีความคิดริเริ่ม และมีทักษะการวางแผนอย่างดี และ (9) มีความสามารถในการเก็บรวบรวมข้อมูล และนำผลจากข้อมูลที่ค้นพบไปใช้อย่างเหมาะสม
สรุป มโนทัศน์ของผู้เรียนผู้ใหญ่นั้นต้องการที่จะเรียนรู้ด้วยตนเองมากกว่า และการเรียนรู้ที่มีลักษณะการแนะแนวมากกว่าการสอน บทบาทของผู้สอนควรจะเป็นการเข้าไปมีส่วนร่วม อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ (facilitator) มากกว่า ควรสร้างบรรยากาศในการเรียนรู้ การยอมรับฟังและยอมรับในการแสดงออก ทัศนคติและความรู้สึกนึกคิด ที่จะช่วยให้ผู้เรียนได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ได้

บทบาทของประสบการณ์ของผู้เรียน (the role of the learner’s experience)
ประสบการณ์ชีวิตมีผลกระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่ เพราะผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่า และผู้ใหญ่สะสมประสบการ์เพิ่มขึ้น เป็นการขยายฐานที่จะเชื่อมโยงถึงประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ โดยมีประสบการณ์เดิมเป็นแนวทางในการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ Sahaunion (2552) ได้อ้างถึง ผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากกว่าเด็กในหลายด้าน ซึ่งสะสมไว้ด้วยวิธีการแตกต่างกันมาตั้งแต่เด็ก ยิ่งอายุมากขึ้นก็ยิ่งสะสมประสบการณ์มากยิ่งขึ้น นับเป็นแหล่งที่มีคุณค่ามากสำหรับการเรียนรู้เรื่องประสบการณ์นี้มีผลต่อการเรียนรู้ของผู้ใหญ่หลายประการคือ ผู้ใหญ่สามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือประสบการณ์กับผู้อื่นได้ เป็นการขยายโลกทัศน์ของผู้ใหญ่ให้กว้างขวางมากขึ้น ดังนั้นผู้ใหญ่จึงเป็นแหล่งวิทยาการสำคัญในการเรียนรู้, ผู้ใหญ่มีประสบการณ์เดิมเป็นพื้นฐาน และสามารถนำประสบการณ์เดิมนั้นไปเกี่ยวโยงหรือสัมพันธ์กับประสบการณ์ใหม่ ๆ ได้ จึงทำให้ประสบการณ์ใหม่มีความหมายมากขึ้น และผู้ใหญ่มีลักษณะฝังแน่นกับความเคยชิน หรือประสบการณ์เดิมที่ผ่านมา จึงทำให้ผู้ใหญ่เปลี่ยนแปลงอะไรได้ยาก สอดคล้องกับ วุฒิพล สกลเกียรติ (2546, หน้า 113) ได้ชี้แนะว่า วัยของผู้ใหญ่มีช่วงกว้าง ประสบการณ์ที่ได้รับจึงมากมายแตกต่างจากวัยเด็ก นอกจากนั้นผู้ใหญ่ยังมีความหลากหลายมากกว่า เช่น ภูมิหลัง ลักษณะการเรียนรู้ (learning style) แรงจูงใจ ความต้องการ ความสนใจและเป้าหมาย ดังนั้นสิ่งที่ต้องเน้นเป็นอย่างยิ่งในการศึกษาผู้ใหญ่ก็คือ การตั้งอยู่บนกลยุทธ์ในการเรียนการสอนผู้ใหญ่ที่ร่ำรวยไปด้วยประสบการณ์อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อการเรียนรู้ จุดเน้นอีกประการหนึ่งของการศึกษาผู้ใหญ่คือ การใช้เทคนิคประสบการณ์ (experiental technique) คือการใช้เทคนิคที่จะดึงประสบการณ์ของผู้เรียนออกมาให้เกิดประโยชน์ เช่น การอภิปรายกลุ่ม (group discussion) สถานการณ์สมมุติ (simulation experience) กิจกรรมการแก้ปัญหา (problem-solving activities) การใช้กรณีตัวอย่าง (case method) และการทดลอง (laboratory methods)
สรุป บทบาทของประสบการณ์ของผู้เรียนนั้นทำให้ผู้ใหญ่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล ยิ่งอายุมาก ประสบการณ์ก็จะยิ่งแตกต่างมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนผู้ใหญ่ ควรคำนึงถึงทั้งในด้านของความแตกต่างระหว่างบุคคล และข้อดีของการมีประสบการณ์ของผู้เรียนผู้ใหญ่ ซึ่งง่ายต่อการจัดฝึกอบรม

ความพร้อมที่จะเรียนรู้ (readiness to learn)
ผู้ใหญ่พร้อมที่จะเรียนรู้เมื่อเห็นว่าการเรียนรู้มุ่งไปที่ชีวิตประจำวัน (life-centered) หรือเน้นที่งาน การแก้ปัญหา (task-centered) มากกว่า ซึ่งแตกต่างกับเด็กที่มีแนวโน้มในการที่จะเรียนรู้โดยอาศัยเนื้อหาวิชา เรียนตามหลักสูตร ตามข้อบังคับของผู้สอนแต่ผู้เรียนผู้ใหญ่จะยอมรับ และสนใจกิจกรรมการเรียนรู้เมื่อเห็นว่าการเรียนรู้นั้น ๆ จะช่วยให้ผู้เรียนทำงานได้ดีขึ้น หรือแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ วุทธิศักดิ์ โภชนุกูล (2550) ได้กล่าวถึงความพร้อมที่จะเรียนรู้จะเป็นผลจากภารกิจพัฒนาการ (developmental tasks) ถ้าสอดคล้องกับความต้องการ ตรงกับปัญหาและสถานการณ์จริงของผู้เรียน ผู้เรียนย่อมมีความพร้อมในการเรียนรู้สูง เกิดเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะสอน (teachable moment) ผู้เรียนย่อมเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับ Sahauion (2552) ซึ่งได้อ้างถึงการสอนผู้ใหญ่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และรับสิ่งต่าง ๆ ได้ ถ้าผู้เรียนเกิดความต้องการ ส่วนในการสอนเด็กนั้นมักจะกำหนดว่า เด็กควรจะต้องเรียน (ought to) ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ เพราะคิดว่าอาจจะมีประโยชน์กับอนาคตของเด็กต่อไป โดยมิได้คำนึงถึงความต้องการของเด็กในขณะนั้น ซึ่งความพร้อมของผู้ใหญ่อาจสร้างได้โดยมิต้องรอคอยให้พัฒนาขึ้นมาเอง คือ มีวิธีการกระตุ้นในรูปแบบของการกระทำ อาจจะในลักษณะของความมุ่งหวังในระดับสูง และกระบวนการวินิจฉัยตนเองช่วยทำให้ผู้ใหญ่ได้พัฒนาตนเองซึ่งเรียกว่า “แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์” (achievement motives)
สรุป ผู้เรียนผู้ใหญ่จะพร้อมและยอมรับในการเรียนรู้ เมื่อเชื่อว่าการเรียนรู้จะช่วยทำให้ทำงานได้ดีขึ้น หรือช่วยให้พัฒนาตนเองได้มากขึ้น และสามารถนำไปแก้ปัญหาในชีวิตประจำวันได้ การจัดหลักสูตรเพื่อการเรียนการสอนของผู้เรียนผู้ใหญ่ จึงควรจะอาศัยสถานการณ์ต่าง ๆ รอบตัว เพื่อเพิ่มความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ ซึ่งมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาในชีวิตของผู้เรียนได้

การนำไปสู่การเรียนรู้ (orientation to learning)
การนำไปสู่การเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่นั้น ผู้ใหญ่จะเรียนรู้เพื่อใช้ประโยชน์ได้จริงในทันที ใช้ในชีวิตจริง (problem-centered/life-centered and immediacy of application) วุฒิพล สกลเกียรติ (2546, หน้า 113) ได้อธิบายถึง การนำไปสู่การเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้น การมีจุดเน้นที่ต่างกันในการนำไปสู่การเรียนรู้ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ กล่าวคือ เด็กใช้เนื้อหาวิชาเป็นศูนย์กลาง ผู้ใหญ่ถูกจูงใจให้เข้ามาเรียนเมื่อผู้ใหญ่รับรู้ว่า การเรียนรู้ที่เป็นความรู้ใหม่ ความเข้าใจใหม่ ทักษะ ค่านิยมและทัศนคติ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพถ้าถูกนำเสนอภายใต้บริบทของการนำไปใช้ได้จริงในชีวิต จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่ควรนำการเสริมแรง (reinforcement) มาใช้ ซึ่งสอดคล้องกับ สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์ (2552) ได้เสนอแนะแนวทางในการเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่ไว้ดังนี้ (1) ปฐมนิเทศหรือให้การอบรมผู้สอนผู้ใหญ่ สภาพการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ที่แตกต่างจากเด็ก ซึ่งผู้สอนควรได้รับการฝึกอบรม นิเทศให้เข้าใจถึงความแตกต่างรวมทั้งคำนึงถึงผู้เรียนเป็นหลัก และช่วยให้ผู้ใหญ่เรียนมากกว่าการมุ่งสอนเนื้อหาวิชาการ (2) หลักสูตรการเรียนการสอนควรมุ่งเน้นประโยชน์ การนำไปใช้จริง เนื่องจากผู้ใหญ่มีแนวโน้มยึดการแก้ปัญหาเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้มากว่าเนื้อหาวิชาการ และ (3) การจัดประสบการณ์การเรียนรู้สำหนับผู้ใหญ่ควรยึดปัญหาเป็นหลักและกระบวนการแก้ปัญหาเป็นหลัก นอกจากนี้ผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้ดีกว่าในบรรยากาศที่มีการอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ทั้งกายภาพ เช่น การจัดแสงสว่าง และอุณหภูมิของห้องให้พอเหมาะ มีการจัดที่นั่งที่เอื้อต่อการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนหรือระหว่างผู้เรียนด้วยกันได้อย่างสะดวก มีบรรยากาศของการยอมรับในความแตกต่างในทางความคิด ประสบการณ์ที่แตกต่างกันของแต่ละคน มีความเคารพซึ่งกันและกัน มีอิสรภาพและการสนับสนุนให้มีการแสดงออกและมีความเป็นกันเอง มากกว่าบังคับด้วยกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ผู้เรียนผู้ใหญ่ก็จะปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม และยอมรับ ปรับตนเองให้เข้ากับประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมนั้น ๆ ได้ (Tu.ac.th, 2552)
สรุป การนำไปสู่การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ส่วนมากมีการเรียนรู้โดยอาศัยปัญหาเป็นศูนย์กลาง หรือเพื่อนำความรู้ไปแก้ปัญหาชีวิตประจำวันได้ และผู้ใหญ่จะเรียนรู้ได้อย่างดียิ่งในบรรยากาศแวดล้อมที่เป็นกันเอง ไม่มีความรู้สึกถูกบังคับโดยระเบียบกฏเกณฑ์ ซึ่งผู้สอนจำเป็นที่จะเข้าใจในแนวทางการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อที่จะได้หาแนวทางการเรียนรู้ของหลักสูตรที่จะนำมาสอน และสามารถออกแบบการเรียนรู้ให้ตรงกับประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่ได้

แรงจูงใจ (motivation)
การเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้นจะมีความพร้อมที่เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้และพึงพอใจ มากกว่าจะให้ผู้อื่นมากำหนดให้ และมักจะมีแรงจูงใจในการเรียนรู้จากภายในตนเองมากกว่าแรงจูงใจภายนอก Tough (อ้างถึงใน สรุเชษฐ เวชชพิทักษ์, 2552) ได้ศึกษาแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ โดยวิธีการสัมภาษณ์เพื่อทำความเข้าใจถึงแรงจูงใจที่ทำให้ผู้ใหญ่เข้าร่วมโครงการศึกษาต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่เกือบทุกคนมิได้เข้าเรียนด้วยเหตุผลจูงใจเพียงอย่างเดียว แต่มีแรงจูงใจหลายอย่างประกอบกัน ผู้เรียนผู้ใหญ่ส่วนมากเข้าเรียนเพราะมีความต้องการที่จะนำความรู้ทักษะไปใช้ ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่บางคนรู้ว่าตนเองจะต้องทำหรือได้รับมอบหมายงานใหม่ที่ต้องใช้ทักษะใหม่ๆ และผู้ใหญ่บางคนเข้าเรียนเพราะต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่นั้น Lieb (อ้างถึงใน สุจินดา ม่วงมี, 2548, หน้า 30-31) ได้เสนอแนะข้อแนะนำ 4 ประการ สำหรับผู้สอนผู้เรียนผู้ใหญ่ ในการสนับสนุนผู้เรียนให้เรียนรู้ได้ดีขึ้น ดังนี้ (1) การสร้างแรงจูงใจ ผู้สอนต้องสร้างความคุ้นเคยกับผู้เรียนและเตรียมผู้เรียนเพื่อการเรียนรู้ด้วยวิธีการ เช่น กำหนดความรู้สึก และน้ำเสียงที่แสดงออกถึงการยอมรับ และเป็นกันเองต่อผู้เรียน, กำหนดสิ่งที่เกี่ยวข้องในการรับสัมผัสของผู้เรียน ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเนื่องด้วยคนเรา จะเรียนรู้ได้ดีที่สุดภายใต้ภาวะความเครียด หรือความกดดันที่ระดับต่ำ-ระดับกลาง ถ้าระดับความเครียด หรือความกดดันในการเรียนสูง จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ สื่อวัสดุการเรียนที่ใช้ควรจัดให้ชัด สบายตา มีส่วนช่วยลดภาวะความเครียดหรือความกดดันได้อย่างหนึ่ง การวางแผนให้มีระยะเวลาสำหรับหยุดพักบ่อย ๆ แม้แต่การหยุดพักเหยียดขา แขน ลำตัว สัก 2 นาทีก็สามารถช่วยลดภาวะความเครียด หรือความกดดันเช่นกัน ช่วงการบรรยายควรให้มีการหยุดพักทุก ๆ 45-60 นาที แต่ถ้าสถานการณ์การเรียนการสอน มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมาก การหยุดพัก สามารถยืดไปหลังจากการเรียนการสอน 60-90 นาทีแล้ว เป็นต้น และการกำหนดความง่าย ความยากของบทเรียน หรือกิจกรรมการเรียนก่อนล่วงหน้าและวางแผน ช่วงการให้รางวัล หรือแรงเสริมผู้เรียนในการสะสมความสำเร็จ รวมทั้งการให้ข้อมูลป้อนกลับ (feedback) ที่เป็นการเฉพาะเรื่องไม่ใช่เรื่องทั่ว ๆ ไป (2) การให้แรงเสริม (reinforement) เป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากในกระบวนการเรียนการสอน การให้แรงเสริมเป็นตัวกระตุ้นการแสดงออก และมีพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือถูกต้อง แรงเสริมโดยทั่วไปมี 2 ประเภท คือ แรงเสริมทางบวก และแรงเสริมทางลบ กล่าวคือ แรงเสริมทางบวก โดยทั่วไปจะใช้กับทักษะใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มพฤติกรรม ถ้าพฤติกรรมที่ดีก็ให้รางวัลด้วยการชมพูดยกย่องและอื่น ๆ เพื่อเสริมพฤติกรรมนั้นให้มีต่อ ๆ ไป ส่วนแรงเสริมทางลบนั้นโดยทั่วไปแล้วมีการใช้แรงเสริมทางลบในการสอนทักษะใหม่ เพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ผลการของการใช้แรงเสริมทางลบ คือ การหดหาย นั่นคือผู้สอนใช้แรงเสริมทางลย จนกระทั่งพฤติกรรมที่ไม่ดีหายไป อย่างไรก็ตามผู้สอนควรพยายามเปลี่ยนพฤติกกรมด้วยการประยุกต์ใช้แรงเสริมทั้งทางบวกและทางลบให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานความคิดที่ดี เพื่อช่วยผู้เรียนผู้ใหญ่จำในสิ่งที่ผู้เรียนกำลังเรียน หรือสนใจอยู่
สรุป แรงจูงใจของผู้เรียนผู้ใหญ่ที่ดีนั้นควรสร้างจากแรงผลักดันภายใน เช่น ความต้องการเพิ่มความพึงพอใจในงาน การเข้าใจตนเอง (self-esteem) ฯลฯ จะช่วยทำให้ผู้เรียนผู้ใหญ่มีความสนใจในการเรียนรู้มากยิ่งขี้น แต่แรงจูงใจภายนอก เช่น งานที่ดี การได้รับการสนับสนุน เงินเดือนสูง ก็เป็นสิ่งที่จะช่วยเสริมให้ผู้เรียนผู้ใหญ่มีเป้าหมายในการเรียนรู้เพิ่มขึ้นอีกเช่นกัน
สรุป ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่ Andragogical Model นั้นพอที่จะสรุปได้ดังประเด็นดังต่อไปนี้ คือ (1) ผู้ใหญ่ต้องการรู้ว่าสิ่งที่กำลังเรียนอยู่นั้น เรียนไปทำไม พวกเขาควรได้รับการบอกกล่าวถึง ผลที่มีต่อพวกเขาโดยตรง เช่น การสร้างหลักสูตรการเรียนรู้ด้วยตนเอง ผู้เรียนผู้ใหญ่ต้องการรู้ว่าเรียนไปทำไม ซึ่งตัวบทเรียนนั้นควรเริ่มต้นด้วยการเน้นให้เห็นประโยชน์ในการสร้างทีมงาน ซึ่งผู้ใหญ่รู้และสามารถนำไปใช้ได้โดยตรงในงาน (2) ผู้ใหญ่มีคลังประสบการณ์ที่สะสมมาตลอดชีวิต เปรียบเสมือนขุมทรัพย์เพื่อการเรียนรู้ต่อเนื่อง ผู้เรียนผู้ใหญ่จะดึงเอาประสบการณ์ที่เคยมีมาประกอบการเรียนรู้ในหัวข้อนั้น ๆ ซึ่งทฤษฏีของ Knowles ทำให้ทราบว่า ผู้ใหญ่เข้ามาเรียนพร้อมประสบการณ์การทำงานที่มีมาก่อน และมีความคาดหวังที่จะใช้ประสบการณ์เหล่านั้นร่วมไปในกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาจึงควรถูกออกแบบไว้ให้ผู้เรียนสามารถเข้าร่วมโดยชวนให้ระลึกถึงวิธีที่ผู้เรียนเคยใช้แก้ปัญหาในอดีต และเสนอแนะวิธีการทำงานเป็นทีมที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในอนาคต (3) ผู้ใหญ่เรียนรู้วิธีแก้ปัญหาแบบลงมือทำจริง เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ผู้ใหญ่ไม่ชอบวิธีท่องจำ เช่น การออกแบบเกมแก้ปัญหาด้วยการตัดสินใจเป็นทีม ภายใต้สถานการณ์จำลองที่ถูกควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ (4) ผู้ใหญ่ต้องการใช้ความรู้และทักษะที่ได้เรียนรู้มาทันที ความทรงจำจะลดลงถ้าเก็บไว้นานโดยไม่ได้ใช้ ซึ่งตรงตามหลักทฤษฎีของ Knowles ที่กล่าวว่า ความรู้ที่ได้ควรถูกนำไปใช้ทันทีเพื่อย้ำความทรงจำ (Thaiedreaearch, 2546)

ทฤษฏีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model
กับการปรับประยุกต์ใช้ในองค์กร
การพัฒนาบุคลากรในองค์กรด้วยการจัดการฝึกอบรมนั้น นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการฝึกอบรม หลักการบริหารงานฝึกอบรมและ มีความเข้าใจถึงหลักการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ เพื่อให้สามารถปฏิบัติต่อผู้เข้าฝึกอบรมได้อย่างเหมาะสม ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้ใหญ่ในองค์กรนั้น วุฒิพล สกลเกียรติ (2546, หน้า 332) ได้อ้างถึง Hopkins ซึ่งได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ หรือผู้ใช้แรงงานในองค์กรตามอุดมการณ์ของการศึกษาเพื่อผู้ใช้แรงงานไว้ 5 ประการดังนี้คือ
1. Individual Development เพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง ทั้งด้านทักษะ ความรู้ ทัศนคติ และประสบการณ์ ทั้งเปิดโอกาสให้เขาได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงสถานภาพในสังคม เช่น จากการเป็นลูกจ้างสู่การเป็นนายจ้าง
2. Stability and Coherence in Society เพื่อความมั่นคงและการมีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์ในสังคม ซึ่งจะทำให้เขาได้หลุดพ้นจากความโง่เขลา รู้ถึงสิทธิและหน้าที่ในสังคม รู้ข้อบังคับและสามารถทำหน้าที่ของคนอย่างมีประสิทธิผล เพื่อประโยชน์แห่งตนและสังคม
3. Efficient Worker’s Organizations เพื่อให้องค์การของผู้ใช้แรงงานมีประสิทธิภาพโดยเปิดโอกาสให้คนงานได้เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของพวกเขาต่อผู้อื่นที่ร่วมทำงานอยู่ในภาคอุตสาหกรรม เช่น นายจ้าง และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
4. Improve Socio-Economic Contributions เพื่อสนับสนุนให้แก้ไขสภาพสังคมและเศรษฐกิจการศึกษาเป็นพื้นฐานของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ จึงใช้การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของทั้งคนงานและองค์การ โดยทั้งคนงานและองค์การต้องหันมามีส่วนร่วมกันในการพัฒนาให้คนงานได้รับความพึงพอใจและทำงานเพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมายสูงสุด
5. Change and Transformation in the Society เพื่อการเปลี่ยนแปลงและการปฏิรูปในสังคม การศึกษาเพื่อผู้ใช้แรงงานเป็นเครื่องมือที่ดีที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยการให้การศึกษาแบบค่อย ๆ ซึมซับในเรื่องความรู้และความต้องการอื่น ๆ เพื่อยกระดับชนชั้นต่ำในสังคมให้มีสถานภาพที่ดีขึ้น พร้อมกับการพัฒนาจริยธรรมและสติปัญญาควบคู่กันไป
แนวคิดและสมมุติฐานต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นแนวทางที่จะเรียนรู้และเข้าใจเพื่อหาแนวทางในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ โดยนำทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้กับการพัฒนาองค์กรได้ ซึ่ง ชัยฤทธิ์ โพธิสุวรรณ (2544, หน้า 65-68) ได้กล่าวถึง รูปแบบของประสบการณ์การเรียนรู้ (design of learning experience format) สามารถออกแบบให้แตกต่างกันเพื่อตอบสนองความแตกต่างของวัตถุประสงค์ของโครงการการศึกษาผู้ใหญ่ (andragogical approach in adult education program) บริบทแวดล้อม และคุณสมบัติของผู้เรียนผู้ใหญ่ซึ่ง ชัยฤทธิ์ ได้ให้อ้างถึง Model ของประสบการณ์การเรียนรู้ที่ Knowles เสนอให้เป็นแม่แบบของการออกแบบให้รูปอื่น ๆ ที่ Knowles เรียกว่า Organic Model มี 7 ขั้นตอนคือ (1) การสร้างบรรยากาศ (2) จัดโครงสร้างทางกายภาพให้เอื้ออำนวยในการร่วมกันวางแผน (3) ผู้สอนอำนวยความสะดวกหรือช่วยให้ผู้เรียนวิเคราะห์ความต้องการของตนเอง (4) ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ (5) ร่วมกันตัดสินใจเลือกและวางแผนกิจกรรมการเรียนรู้ (6) ดำเนินตามแผน และ (7) ผู้เรียนประเมินความก้าวหน้าของตนเองเป็นระยะ จนกระทั้งเสร็จสิ้นกิจกรรมการเรียนรู้ผู้เรียนประเมินตนเองในขั้นสุดท้าย





แผนภาพที่ 1 กระบวนการของ Organic Model
ที่มา.จาก ชัยฤทธิ์ โพธิสุวรรณ. (2544, หน้า 66). การศึกษาผู้ใหญ่: ปรัชญาตะวันตกและการปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการมีความสำคัญทั้งสิ้น การปฏิบัติต้องสอดคล้องกับความเชื่อเบื้องต้นของ Andragogy ทุกประการดังต่อไปนี้
ขั้นตอนที่ 1 สร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง เป็นการแสดงการยอมรับในเอกลักษณ์ (uniqueness) ของผู้เรียนผู้ใหญ่แต่ละบุคคล แสดงความยินดีที่ที่ได้รู้จักและยอมรับในความแตกต่างและความเป็นตนของแต่ละบุคคล ซึ่งเป็นการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล ความรู้สึกนี้จะพัฒนาต่อไปเป็นความรู้สึกเคารพซึ่งกันและกัน (mutual respect) เป็นความรู้สึกไว้วางใจซึ่งกันและกัน (mutual trust) ซึ่งจะเป็นผลดีต่อไปคือกล้าแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ขั้นตอนที่ 2 จัดโครงสร้างทางกายภาพห้องเรียนมีบรรยากาศที่ไม่เป็นทางการ ขนาดของโต๊ะและเก้าอี้เหมาะกับผู้ใหญ่ นั่งสบาย การจัดโต๊ะและเก้าอี้ หลีกเลี่ยงการจัดแบบห้องบรรยาย ต้องจัดให้อยู่ในลักษณะล้อมวงคุยกัน เพื่อเอื้อต่อการสื่อสารแบบสองทางของสมาชิกทุกคน ขณะพูด ทุกคนได้มองเห็นผู้พูด ทั้งนี้เพื่อมุ่งกระตุ้นให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ผู้เรียนผู้ใหญ่สะสมติดตัวมา
ขั้นตอนที่ 3 ผู้สอนอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนวิเคราะห์ความต้องการของตนเอง ตามความเชื่อเบื้องต้นของ Andragogy ที่ผู้ใหญ่มีความต้องการที่จะนำตนเอง นั่นคือผู้เรียนผู้ใหญ่บอกว่าต้องการสิ่งใดได้และถ้าหากติดขัดผู้สอนต้องช่วยแนะนำวิธีการหรือเครื่องมือในการวิเคราะห์ความต้องการของผู้เรียน การที่ผู้เรียนเป็นผู้ระบุความต้องการของตนเอง มีข้อดีแรกคือ ศักดิ์ศรีของมนุษย์ ที่ได้ระบุความต้องการของตนเอง ข้อดีต่อมาคือ เกิดความมุ่งมั่นผูกพันต่อเป้าหมายที่ตนเองเป็นผู้กำหนด
ขั้นตอนที่ 4 ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนกำหนดวัตถุประสงค์ที่เป็นจริงได้ (practical objective) ในทางการศึกษา ในการเขียนความต้องการให้อยู่ในรูปของวัตถุประสงค์การศึกษาที่เหมาะสม ผู้เรียนผู้ใหญ่บางคนอาจสามารถเขียนได้เอง หากติดขัด ผู้สอนต้องช่วยแนะนำและให้ความสะดวก ข้อดีของการที่ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดวัตถุประสงค์ของการศึกษาของตนเอง ก็เช่นเดียวกันข้อดีของการวิเคราะห์ความต้องการของตนเอง คือ ภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตนเอง และความผูกพันมุ่งมั่นและการยอมรับในสิ่งที่ตนระบุเอง
ขั้นตอนที่ 5 การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกวิธีการเรียนรู้ เลือกกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนชอบและมั่นใจที่จะกระทำ หากติดขัด ผู้สอนต้องแนะทางเลือก ช่วยบอกข้อดี ข้อจำกัดของแต่ละวิธีการเรียนรู้ มอบการตัดสินใจให้อยู่ในความรับผิดชอบของผู้เรียน สอดคล้องกับการรับรู้ตนเอง ที่จะชี้นำตนเองของผู้ใหญ่และเปิดโอกาสให้ได้ใช้ประสบการณ์เดิมมาใช้ในการเรียนรู้อย่างเต็มที่
ขั้นตอนที่ 6 ผู้เรียนดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้ โดยมีผู้สอนเป็นพี่เลี้ยงเพื่อให้เกิดความมั่นใจ เมื่อติดขัด หรือต้องการความช่วยเหลือ ผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้สอนมีโอกาสเรียนรู้จากกันและกัน
ขั้นตอนที่ 7 ประเมินความก้าวหน้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นระยะ เพื่อให้ผู้เรียนตัดสินใจในการกระทำของตนเองตามกิจกรรมการเรียนรู้ได้ ถ้าจำเป็นต้องดัดแปลงหรือยืดหยุ่น สำหรับการประเมินในขั้นสุดท้ายเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก ที่ผู้เรียนจะทราบว่าตนเองถึงจุดหมายที่ตนกำหนดไว้แล้วหรือยัง ยังขาดอีกเท่าไร การประเมินตนเอง (self-assessment หรือ self-evaluation) ขั้นนี้ จะมีข้อดีที่กลายเป็นการวิเคราะห์ความต้องการหรือความขาดของผู้เรียนด้วยตนเองอีกครั้ง ถ้ายังไปไม่ถึงจุดหมายที่ต้องการ ผู้เรียนทราบว่าขาดอีกเท่าไร ผู้เรียนเป็นผู้ระบุความขาดหรือความต้องการเอง ทำให้เกิด ความต้องการที่จะเรียนรู้ต่อไป ทำให้วงจรของระบบการเรียนรู้จากขั้นตอนที่ 7 ย้อนไปบรรจบเป็นขั้นตอนที่ 3 (re-assessment of learning need) กระบวน การเรียนรู้ของผู้เรียนผู้ใหญ่จึงเกิดอย่างต่อเนื่องด้วยการชี้นำตนเอง สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ผู้ใหญ่สอดคล้องตามแนวทางมนุษยนิยมได้เป็นอย่างดี
สรุป การออกแบบประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวทาง Andragogy ของ Knowles ตามทฤษฏี Organic Model สามารถตอบสนองความเชื่อเบื้องต้นของ Andragogy และมนุษยนิยมได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นแม่แบบที่จะดัดแปลงที่นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะสามารถเลือกบรรจุเนื้อหา และวิธีการ เทคนิคที่หลากหลายได้ตามความเหมาะสมของวัตถุประสงค์ขององค์กรนั้น ตามสภาพบริบทแวดล้อมและคุณสมบัติของกลุ่มผู้เรียนผู้ใหญ่ที่แตกต่างกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะสามารถในการจัดการเรียนรู้ และบริหารจัดการความแตกต่าง โดยเฉพาะในเรื่องของความแตกต่างในด้านความรอบรู้ (knowledge) ด้านความเข้าใจ (understanding) ด้านทักษะ (skill) ด้านทัศนคติ (attitude) และด้านคุณค่า (value) หรือเรียกว่า “KUSAVA” ซึ่งองค์กรสามารถนำไปประยุกต์และปรับใช้ในองค์กรให้เกิดการพัฒนาทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเพื่อการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนตลอดไป



ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
คุณลักษณะเด่นที่เกี่ยวกับการเรียนรู้อย่างหนึ่งของผู้ใหญ่ที่ต่างจากเด็ก ดังที่ได้กล่าวไปตามเชื่อเบื้องต้นของทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogical Model ที่ว่า ผู้ใหญ่มีความต้องการที่จะเรียนรู้โดยการชี้นำตนเอง (self-directed learning) ที่จะช่วยพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของตนเองให้ผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิตได้ (life-long learning) และยังช่วยสนับสนุนให้ผู้เรียนผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้ร่วมกันในองค์กร เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ (learning society) ได้ สามารถพัฒนาองค์กรทำให้องค์การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้โดยมีความรู้เป็นทรัพย์สินทางกลยุทธ์ขององค์กร การประยุกต์ใช้ความรู้ก่อให้เกิดนวัตกรรมซึ่งจะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันขององค์กร ซึ่งผู้บริหารระดับสูงจำเป็นต้องให้การสนับสนุนให้ทรัพยากรมนุษย์หรือบุคลกรในองค์กรซึ่งเป็นผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้ ทำให้ผู้ใหญ่กลับมาเป็นผู้เรียนอีกครั้ง นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จะต้องดำเนินการจัดการเรียนรู้แก่ผู้เรียนผู้ใหญ่อย่างเหมาะสม มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพในการปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มผลผลิต และรวมถึงคุณภาพชีวิตในการปฏิบัติงานในองค์กรด้วย เพื่อให้การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สร้างทุนมนุษย์ โดยใช้ทฤษฎีการเรียนผู้ใหญ่ Andragogical Model สร้างกระบวนการเรียนรู้ของบุคลากรในองค์กรในลักษณะที่เป็นแบบเรียนรู้ที่เกิดขึ้นร่วมกันระหว่างบุคลากรกับบุคลากร บุคลากรกับองค์กร หรือบุคลากรกับภายนอกองค์กร สร้างแรงจูงใจภายในตัวบุคลากรให้เกิดการเรียนรู้โดยให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมภายนอกที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การแข่งขันขององค์กร ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า เพื่อตอบสนองต่อกลยุทธ์และเป้าหมายขององค์กรได้โดยมีกลยุทธ์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้วย





บรรณานุกรม

ชัยฤทธิ์ โพธิสุวรรณ. (2544). การศึกษาผู้ใหญ่: ปรัชญญาตะวันตกและการปฏิบัติ. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วุฒิพล สกลเกียรติ. (2546). การเรียนรู้ผู้ใหญ่และผู้เรียนผู้ใหญ่. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง
วุทธศักดิ์ โภชนกูล. (2550). การเรียนรู้ของผู้ใหญ่ Andragogy. ค้นเมื่อ 15 มีนาคม 2552, จาก http://www.pochanukul.com/?p=39
สรรรัชต์ ห่อไพศาล. (2551). การเรียนรู้แบบนำตนเอง Self-directed Learning. ค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2552, จาก http://elearning.spu.ac.th/content/hum111/main1_files/ body_files/lesson9_files/sunrat.html
สุจินดา ม่วงมี. (2548). ผู้เรียนผู้ใหญ่: วารสารการศึกษาและการพัฒนาสังคม ฉบับที่ 1. กรุงเทพมหานคร. สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนิด้า
สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์. (2552). การจัดการเรียนรู้สำหรับผู้ใหญ่. ค้นเมื่อ 29 มีนาคม 2552, จาก http:// www.hrd.ru.ac.th/substance/html/ER644_6.html
สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์. (2552). แรงจูงใจในการเรียนรู้ของผู้ใหญ่. ค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2552, จาก http:// www.thai.net/edocomtech/adult_Learner.html
อมรรัตน์ จันทวงศ์. (2549). การเรียนรู้ด้วยตนเอง Self-directed Learning. ค้นเมื่อ 14 มีนาคม 2552, จาก http://gotoknow.org/blog/amornrat/39420
Sahaunion. (2552). พัฒนาการในวัยผู้ใหญ่. ค้นเมื่อ 28 มีนาคม 2552, จาก http://www. sahaunion.com/hrm5/Webboard/images_upload/20068221739481.doc
Thaiedresearch. (2546). Andragogy ทฤษฎีการเรียนรู้ของผู้ใหญ่. ค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2552, จาก http://www.thaiedresearch.org/thaied_news/index1.php?id=2570
Tu.ac.th. (2552). แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาบุคคลและการฝึกอบรม. ค้นเมื่อ 30 มีนาคม 2552, จาก http://www.tu.ac.th/org/ofrector/person/train/handbook/training.html

Training Needs Analysis

Training Needs Analysis
Naukrihub. (2008). Training Needs Analysis. Retrieved October 11, 2008. from http://traininganddevelopment.naukrihub.com/ training-need-analysis.html

Keywords : Training Needs Analysis
สรุปสาระสำคัญ
การวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรม เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ต้องการในการฝึกอบรมให้มีประสิทธิภาพ หาว่าอะไรช่องว่างระหว่างความต้องการที่ทำให้เกิดการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ กับ สมรรถภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพื่อตัดสินใจว่าสิ่งไหนจำเป็นหรือไม่ สามารถวางแผนในเรื่องค่าใช้จ่ายภายในองค์กร, ขอบเขตที่ต้องการฝึกอบรม และเน้นไปถึงโอกาสที่การฝึกอบรมที่อาจจะจำเป็นแต่เป็นความจำเป็นที่หลากหลายวิธี
ความจำเป็นในการฝึกอบรมมีด้วยกัน 3 ขั้นตอนด้วยกันคือ 1) ส่วนขององค์กร เน้นในเรื่องการการวางแผนกลยุทธ์ ความจำเป็นของธุรกิจ และเป้าหมาย ซึ่งเริ่มจากการประเมินสภาพแวดล้อมภายในองค์กร เช่น กระบวนการ โครงสร้าง กฎระเบียบ จุดแข็ง และ จุดอ่อน รวมทั้ง สภาพแวดล้อมภายนอกด้วย เช่น โอกาส และ ภัยคุกคามต่าง ๆ ด้วย 2) ในแต่ละหน่วยงาน เน้นในแต่ละส่วนและ ทุก ๆ ฝ่ายในองค์กร ตรวจสอบว่าพนักงานกำลังดำเนินงานในระดับที่ต้องการ หรือ สมรรถภาพนั้นต่ำกว่าความคาดหวัง ผลที่ออกมาเป็นผลบวก นั้นแสดงว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องฝึกอบรมขึ้น ซึ่งสามารถที่จะเชื่อมโยงต่อความจำเป็นในแต่ละส่วนได้ อาทิเช่น ทบทวนการประเมินงานและ ผลการดำเนินงาน, สังเกต การประเมินงาน, การประเมินความสามารถ, การประเมินผู้ใต้บังคับบัญชา, ผลย้อนกลับของลูกค้าประจำ และการประเมินผลตนเอง หรือ การตรวจสอบตนเอง 3) ในส่วนการปฏิบัติงาน เน้นไปที่การทำงานที่ได้มอบหมายให้พนักงาน วิเคราะห์งานรวมถึงข้อมูลในงานว่าพนักงานเข้าใจในเนื้องานอย่างละเอียดหรือไม่ วิเคราะห์จากข้อมูลต่าง ๆ เช่น การสัมภาษณ์ในด้านเทคนิค การสังเกต การทดสอบด้านร่างกาย แบบสอบถามที่เป็นคำถามปิดรวมทั้งคำถามแบบเปิดด้วย ฯลฯ

วิเคราะห์วิจารณ์
หลายองค์กรมักจะประสบปัญหาในการจัดฝึกอบรมพนักงาน เนื่องจากในการจัดการฝึกอบรมในทุก ๆ ปีนั้น ไม่ได้ผล เสียเวลาการทำงาน เงินทอง และไม่สามารถแก้ปัญหาขององค์กรได้ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรยังคงเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ผลผลิตตกต่ำ, การละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง, เกิดอุบัติเหตุในที่ทำงานบ่อย, มีการลากิจ ลาป่วย มาสาย ขาดงานบ่อย, อัตราการร้องทุกข์จากลูกค้า และพนักงานเอง รวมทั้งต้นทุนการผลิตสูงขึ้น สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาที่ต้องการการแก้ไข จำเป็นที่จะต้องจัดการฝึกอบรมพนักงานในทุกระดับในองค์กรให้ปัญหาต่าง ๆ บรรเทาลง แต่การวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมนั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการ มีแนวทางที่ถูกต้องที่จะช่วยให้การจัดการฝึกอบรมประสบความสำเร็จ (อัญธิกา ปุนริบูรณ์, 2551) กระบวนการในการวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมนั้น ตั้งอยู่บนพื้นฐานของเทคนิคการรวบรวมข้อมูลและการดำเนินการที่มีขั้นตอน ซึ่งสิ่งที่จะพบในขั้นตอนหนึ่ง ๆ นั้นก็จะมีผลต่อการกำหนดรูปแบบลำดับขั้นของการอบรมในส่วนต่าง ๆ ถัดไป ซึ่งแต่ละสถานการณ์จะประกอบไปด้วยการสังเกต (observing), การตรวจสอบ (probing), การตรวจตราเบื้อต้น (surveillance), การสำรวจ (investigate), การวิเคราะห์ (analysis), การรายงาน (report), และการสรุป (deducing) ที่ต่าง ๆ กันไปตามสถานการณ์ในองค์กรที่เกิดขึ้น การวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรมนั้นนอกจากมีกระบวนการในการวิเคราะห์แล้ว ต้องทำการพิจารณาองค์ประกอบต่าง ๆ ขององค์กร จากเป้าหมายขององค์กร (corporate goal) ค่านิยมขององค์กร (core value) ปัญหาที่เกิดขึ้น (problems) ความต้องการของตำแหน่งงาน (job requirement) และข้อกำหนดกฎหมายหรือมาตรฐานสากล (law or international standard) ประกอบในการพิจารณาด้วย ซึ่ง ณรงค์วิทย์ แสนทอง (2551) ได้ให้แนวทางการดำเนินการวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรมจากแหล่งต่างๆดังต่อไปนี้
แหล่งที่ 1 : กำหนดมาจากข้อกำหนดของตำแหน่งงาน กำหนดหลักสูตรการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับ job competencies เนื่องจากแต่ละตำแหน่งงานมีหน้าที่ความรับผิดชอบแตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมีการแปลงความรู้ความสามารถประจำตำแหน่งเป็นหลักสูตรการฝึกอบรมก่อน เพื่อบ่งบอกว่าผู้ดำรงตำแหน่งต้องเข้ารับการฝึกอบรมอะไรบ้าง (training road map) ประเมินความสามารถของผู้ดำรงตำแหน่ง(competency assessment) ทำให้รู้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งแต่ละคนจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรอะไรบ้าง บางคนต้องอบรมทุกหลักสูตร บางคนอาจจะเข้าอบรมเพียงบางหลักสูตร ทั้งนี้ นอกจากนี้ยังทราบว่า ความจำเป็นในการฝึกอบรมรายบุคคลที่แท้จริง จัดทำแผนฝึกอบรมส่วนบุคคล (individual development plan) ซึ่งจะบอกว่าหลักสูตรที่ผู้ดำรงตำแหน่งคนนั้นจำเป็นต้องเข้าอบรมนั้น ควรจะอบรมเมื่อไหร่ จะอบรมแบบไหนอย่างไร รวมถึงกำหนดแนวทางการประเมินติดตามผลการฝึกอบรมไว้อย่างชัดเจน
แหล่งที่ 2 : กำหนดมาจากปัญหาในการทำงานในปีที่ผ่านมา 1) ค้นหาปัญหาว่าในรอบปีที่ผ่านมาองค์กรมีปัญหาอะไรบ้าง เช่น ดูจากประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรที่อยู่ในรายงานการประชุมคณะต่างๆ ใช้วิธีการสำรวจ ใช้การสอบถามหรือสัมภาษณ์ ฯลฯ โดยการสอบถามว่าปัญหาหน่วยงานของท่านมีปัญหาอะไรบ้าง 2) การจัดกลุ่มปัญหา ดำเนินการรวบรวมปัญหาและแบ่งกลุ่มของปัญหาว่ามีกลุ่มไหนบ้าง เช่น กลุ่มปัญหาที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ปัญหาที่เกี่ยวกับการสื่อสาร ปัญหาที่เกี่ยวกับแผนงาน ปัญหาที่เกี่ยวกับคน ปัญหาที่เกี่ยวกับเครื่องมืออุปกรณ์ ฯลฯ การจัดกลุ่มจะจัดอย่างไรก็ได้ เพราะวัตถุประสงค์คือต้องการให้เห็นปัญหาในภาพรวมง่ายขึ้นเท่านั้น เพราะปัญหาบางเรื่องซ้ำกันหรือใกล้เคียงกัน 3) การวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหา วิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาแต่ละเรื่องว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง ปัญหาไหนเกิดขึ้นบ่อยและในปีต่อๆไปก็ยังมีโอกาสเกิดขึ้นอีก จำเป็นต้องนำไปพิจารณาในขั้นตอนต่อไป นำเอาผลการวิเคราะห์ส่งไปให้ผู้บริหารหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการในด้านต่างๆ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อวางแผนกลยุทธ์ หน่วยงานที่ดูแลระบบมาตรฐานสากล ฯลฯ 4) ประเมินว่าปัญหานั้นๆสามารถแก้ไขและป้องกันได้ด้วยการฝึกอบรมหรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็ตัดประเด็นนั้นทิ้งไปเลย ถ้าตอบว่า ได้ให้นำไปดำเนินการในกระบวนการเพื่อการวางแผนการฝึกอบรมต่อไป แต่ถ้าตอบว่า ไม่แน่ใจ ให้ย้อนกลับไปดูที่การวิเคราะห์หาสาเหตุใหม่หรืออาจจะต้องไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถตอบได้ว่าสาเหตุของปัญหานั้นๆสามารถแก้ได้ด้วยการฝึกอบรมหรือไม่ เพราะถ้ายังตอบได้ไม่ชัดเจน จะทำให้การอบรมไม่ได้ผล
แหล่งที่ 3 : กำหนดจากข้อกำหนดของระบบมาตรฐานสากลหรือกฎหมาย ถือเป็นแหล่งที่มาอีกแหล่งหนึ่งที่จะถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรม
แหล่งที่ 4 : กำหนดจากคณะทำงานด้านต่างๆภายในองค์กร สำหรับข้อมูลในส่วนนี้ในทางปฏิบัติแล้ว หน่วยงานฝึกอบรมคงไม่ต้องไปวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรมก็ได้ เพราะคณะทำงานมักจะดำเนินการจนออกมาเป็นแผนการฝึกอบรมเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่หน่วยงานฝึกอบรมต้องนำเอาแผนหรือหลักสูตรการฝึกอบรมของคณะทำงานต่างๆมาประกอบกับการจัดทำแผนหลักขององค์กรเท่านั้น
แหล่งที่ 5 : กำหนดมาจากกลยุทธ์ขององค์กร วิเคราะห์หาความจำเป็นจากวิสัยทัศน์ ค่านิยมและกลยุทธ์ขององค์กร โดยการตอบคำถามให้ได้ว่าการที่จะทำให้องค์กรมีค่านิยมตามที่ต้องการ หรือบรรลุวัตถุประสงค์ของกลยุทธ์นั้น การพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรสามารถเข้าไปสนับสนุนได้อย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์อาจจะต้องวิเคราะห์จากกลยุทธ์โดยตรง แต่ในบางเรื่องอาจจะต้องวิเคราะห์ผ่านกลยุทธ์ของหน่วยงานต่างๆที่รองรับเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ขององค์กร

ข้อเสนอแนะ
การจัดการฝึกอบรมให้ถูกใจและถูกจุด ควรให้ความสำคัญว่า การวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรมมีประสิทธิภาพหรือไม่ สามารถวัดผลได้ชัดเจนหรือไม่ รวมทั้งการจัดการฝึกอบรมนั้นเป็นความจำเป็น หรือ สนองความต้องการมากกว่า การวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรม จำเป็นต้องดำเนินการในทุกด้าน เพื่อให้ครอบครุมปัญหาต่าง ๆ ในองค์กร และสามารถนำมาใช้ในการจัดทำแผนการพัฒนาและฝึกอบรมบุคลากรได้ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว


บรรณานุกรม

อัญธิกา ปุนริบูรณ์. (2551). การวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรม. ค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2551, จาก http://www.hu.ac.th/academic/article/HR/Conucting_a_Need_Analysis % 20.html
ณรงค์วิทย์ แสนทอง. (2551). แนวทางการวิเคราะห์หาความจำเป็นในการฝึกอบรม. ค้นเมื่อ 14 ตุลาคม 2551, จาก http://www.lukkidthai.com/News/article03.html

Self Development Tips

Self Development Tips
123Oye. (2008). Self Development Tips. Retrieved October 23, 2008. from http://www. 123oye.com/job-articles/self-development-motivation/self-development-tips.html

สรุปสาระสำคัญ
การพัฒนาตนเองนั้นสามารถเกิดขึ้นในตลอดระยะเวลาที่ยังคงมีชีวิตอยู่ สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงและเติบโตขึ้นได้ สามารถที่จะทำในทุก ๆ สิ่งที่ ต้องการจะทำและต้องการจะเป็น โดยการสนใจฟังในแนวคิดในด้านบวกที่จะให้เกิดการพัฒนาตัวตัวเอง และ นำมาใช้ในชีวิตได้อย่างไร ซึ่งไม่มีใครสร้างได้นอกจากตัวของเราเอง ในวันนี้ ต้องพยายามค้นหาว่าต้องทำอะไรเพื่อการตัดสินใจในความพร้อมในวันข้างหน้า โลกได้เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วต้องเรียนรู้ที่จะจัดการการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้หลีกเลี่ยงโลกที่ล้าสมัย Will Rogers ได้เสนอแนวทางที่ช่วยให้เกิดการพัฒนาตนเองได้ อาทิเช่น รู้จักควบคุมบังคับตัวเองได้, รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้, เรียนรู้จากประสบการณ์ของบุคคลต่าง ๆ, รู้ถึงการอดทน และทำให้ทักษะการจัดการแข็งแกร่งขึ้น, วิเคราะห์ในสิ่งที่ตัดสินใจไม่ได้ สิ่งที่ทำผิดพลาดซึ่งจะช่วยให้หลีกเลี่ยงในการตัดสินใจในครั้งหน้า ให้รางวัลแก่ตัวเองเมื่อสามารถทำให้งานลุล่วงในช่วงเวลาที่สำคัญ ไม่กล่าวคำว่า ไม่สามารถ หรือ ทำไม่ได้ แต่หาแนวทางในการแก้ไข
นอกจากนี้ การจดจำ, สิ่งที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน, การปรับตัว และการประยุกต์ใช้ ในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยไปยังเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาตนเองได้ อาทิ เช่น ขจัดสิ่งที่ทำให้สิ้นเปลืองเวลาออกจากชีวิต, อ่านหนังสือ หนึ่งบทเป็นอย่างน้อยในแต่ละวัน, อ่านหนังสือหนึ่งเล่มในแต่ละเดือน, รีบเร่งค้นหาว่าอะไรในชีวิตที่ต้องการและไปยังจุดหมายนั้น รวมทั้งตัดสินว่าสิ่งไหนเป็นสิ่งที่ต้องการจะทำ และจงทำสิ่งนั้นอย่างไม่กลัวความพ่ายแพ้ ซึ่งถ้าเกิดความพ่ายแพ้ก็เรียนรู้ ทำให้เกิดความแข็งแกร่งในภายภาคหน้าได้ วาดภาพความฝันจินตนาการและเป้าหมายที่จะได้เห็นมันบ่อย ๆ ซึ่งจะคอยเตือนและช่วยเหลือให้ดำเนินไปถึงเป้าหมายในการพัฒนาตนเองได้ ค้นหาผู้ให้คำปรึกษาในเรื่องที่ตัดสินใจไม่ได้ ผู้ซึ่งจะช่วยให้เตรียมพร้อมสำหรับผลย้อนกลับ คำแนะนำ ความท้าทายและ คอยสนับสนุน ระบุถึงต้นแบบและสังเกตในแนวทางและการกระทำของพวกเขาเหล่านั้น แต่ต้องไม่ลอกเลียนแบบ แต่เรียนรู้จากประสบการณ์ของพวกเขาแทน เก็บข้อมูลข่าวสารในแต่ละวัน บันทึกในความเข้าใจของคุณเอง แนวคิด ความรู้สึก และ ความก้าวหน้าในการเติบโตของบุคคล ถามคำถาม ฟัง และถามมากยิ่งขึ้น ค้นหาข้อมูลใหม่ ๆ ในโครงการที่รับผิดชอบอยู่ ดูสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ได้ ท้าทายตัวเองที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ในทุก ๆวัน รู้จักยืดหยุ่น และ แน่วแน่ต่อการปรับปรุง เปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลอื่น และจริงใจที่จะสนใจบุคคลอื่น เก็บข้อมูลว่าสิ่งที่ได้ทำสำเร็จล่วงหน้าในทุก ๆ วัน และสัปดาห์ ถ้าไม่สามารถทำสำเร็จได้ตามที่ต้องการ ต้องให้แรงกระตุ้นเสริมที่จะทำให้ดียิ่งขึ้นในครั้งต่อไป ดำเนินการให้บรรลุ ไม่สร้างนิสัยที่จะทำให้เกิดผลไม่สำเร็จ ยกตัวอย่างเช่น บริโภคมากเกินไป สูบบุหรี่ พูดคุยไร้สาระ รวมทั้งเก็บข้อมูลในแนวคิดลงในแฟ้ม หรือสมุดบันทึกซึ่งสามารถบันทึกแนวคิดในทุก ๆ เรื่อง อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งที่จะให้เวลาในการทบทวนแนวคิดที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองได้

วิเคราะห์วิจารณ์
ในสถานการณ์ของโลกปัจจุบัน มนุษย์พยายามที่จะพัฒนาตนเอง เพื่อให้ตนเองมีศักยภาพมากยิ่งขึ้น สามารถปรับตัวเองให้ได้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ในโลกของข่าวสารข้อมูล การศึกษา เทคโนโลยี สังคม เศรษฐกิจ ที่นับว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น (Atom, 2008) ซึ่งในการพัฒนาตนเองการเข้าใจถึงพื้นฐานของมนุษย์จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาตนเองได้มากหรือน้อยในอนาคต มีด้วยกัน 5 ด้าน คือ 1) ด้านจิตใจ 2) ด้านสุขภาพร่างกาย 3) ด้านทัศนคติ 4) ด้านความคิด ความเข้าใจ 5) ด้านการพัฒนา สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เกิดการพัฒนาตนเองทั้งภายใน และภายนอก ที่จะทำให้ชีวิตดำเนินไปได้อย่างมีความสุข โดยอาศัยความเชื่อมั่นให้แก่ตนเอง ค้นหากุญแจแห่งความเชื่อในการที่จะพัฒนาตนเองได้ (Apecibiz, 2008) ซึ่งได้แก่ 1) ยึดมั่นในความคิดของตนเอง รู้จักที่จะสร้างสรรค์ความคิดของตนเอง 2) รู้จักที่จะวางแผนเพื่อพัฒนาตนเองให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ค้นหาประสิทธิภาพในตนเอง ศักยภาพของตนเองว่ามีมากน้อยเพียงไร รวมทั้งโอกาสที่จะก้าวไปในอนาคตด้วย 3) มีความต้องการที่จะพัฒนาความรู้ตนเองให้กว้างไกล รู้จักฝึกฝนตนเองให้มีความชำนาญ ฝึกนิสัยให้มีระเบียบ ซึ่งได้มาจากประสบการณ์ รวมทั้งการค้นคว้าตำรา หนังสือหาความรู้เพิ่มเติมให้แก่ตนเอง 4) การปฏิบัติที่เชื่อมโยงไปถึงความต้องการ ความจำเป็นและโอกาส, มีความเชื่อมั่นในตนเอง, ตรงต่อเวลา และมุ่งมั่นต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ 5) ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาตนเอง กำหนดขอบเขต หน้าที่ความรับผิดชอบ แก่ตนเอง นอกจากนี้การเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบข้าง จากบุคคลอื่น ๆ (ณรงค์วิทย์ แสนทอง. 2551) ยังสามารถพัฒนาองค์ความรู้ให้กับตัวเองได้หลายแนวทาง เช่น
1. การแตกหน่อและต่อยอดความรู้ของคนอื่น ความรู้ที่ได้จากการฟังหรือการอ่านจากผู้อื่น เปรียบเสมือนบันไดที่จะช่วยให้สร้างบันไดขั้นต่อไปได้ง่ายขึ้น เพราะองค์ความรู้ในบางเรื่องได้รับการสั่งสมมาหลายชั่วอายุคน ไม่สามารถคิดขึ้นมาเองได้ทั้งหมด ความรู้ที่เกิดจากการแตกหน่อและต่อยอดความรู้ของคนอื่นแรก ๆ อาจจะมีความคล้ายและเหมือนต้นตอเดิมบ้าง แต่ถ้าขยันแตกหน่อต่อยอดไปเรื่อยๆ วันหนึ่งองค์ความรู้เหล่านั้นก็อาจจะไม่เหลือเค้าโครงเดิมเลยก็ได้
2. การผสมผสานองค์ความรู้ของคนอื่น โดยใช้เทคนิคการคิดที่มักจะเรียกกันว่า ความคิดสร้างสรรค์ เช่น การนำเอาองค์ความรู้เรื่องก๋วยเตี๋ยวมาผสมกับต้มยำน้ำข้น องค์ความรู้ใหม่ที่ได้คือ “ก๋วยเตี๋ยวต้มยำ” หรือองค์ความรู้เรื่องพัดลมผสมกับองค์ความรู้เรื่องการปั่นด้าย ก็กลายเป็นพัดลมปั่นด้าย (ภูมิปัญญาชาวบ้านทางภาคเหนือ) และอีกสารพัดความคิดที่ได้พบเห็นกันในชีวิตประจำวัน ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พัฒนาความรู้ใหม่โดยวิธีการผสมผสานองค์ความรู้นี้ อยู่ที่ 2 ประเด็นหลัก คือ 1) มีองค์ความรู้มากพอและหลากหลายหรือไม่ และ 2) ได้ทดลองฝึกคิดแบบผสมผสานบ่อยหรือไม่
3. เกิดจากการคิดสิ่งใหม่ขึ้นมาเอง มนุษย์สามารถคิดสิ่งใหม่ๆขึ้นมาเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้ใครเลยก็ได้ เช่น ความรู้ที่เกิดจากจินตนาการหรือความรู้ที่เกิดจากการคิดแก้ไขปัญหาบางสิ่งบางอย่างในชีวิต เห็นได้จากภาพยนตร์, การ์ตูนหรือวิทยาศาสตร์ มักจะเป็นจุดกำเนิดของการศึกษาหาองค์ความรู้ในเวลาต่อมา เพราะจินตนาการของคนเปรียบเสมือนเลเซอร์ที่จะชี้นำทางและช่วยกระตุ้นให้คนพยายามเข้าไปให้ถึงองค์ความรู้นั้นๆได้ดียิ่งขึ้น

ข้อเสนอแนะ
การพัฒนาตนเองให้ประสบความสำเร็จนั้นควรต้องเริ่มจากการสำรวจตัวเองเสียก่อน ค้นหาจุดอ่อน และจุดแข็งภายในตัวเองให้ได้ เพื่อจะได้เป็นแนวทางในการปรับปรุงแก้ไข หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ และสามารถปลูกคุณสมบัติที่ดีงามให้แก่ตนเองได้ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีติดตัวมาแต่กำเนิด รวมทั้งสร้างกำลังใจให้แก่ตนเอง ปลุกใจตนเองให้มีกำลังใจที่จะต่อสู้ต่ออุปสรรคที่จะขัดขวางหนทางในการพัฒนาตนเอง รู้จักเตรียมจิตใจ และร่างกายให้พร้อมที่จะดำเนินการพัฒนาตนเองให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้ ท้ายสุดคือ พยายามประเมินผล เพื่อจะได้ติดตามการดำเนินการพัฒนาตนเองตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ว่าได้ผลมากน้อยเพียงไร จึงจำเป็นต้องอาศัยการวัดผล และประเมินผลด้วย

บรรณานุกรม

Atom. (2551). อีก 5 หลักการ ในการพัฒนาตนเองเพื่อความสำเร็จ. ค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2551, จาก http://blog.eduzones.com/blog/kmitl/index.php?content_id=2148
Apecibiz. (2008). การพัฒนาตนเอง. ค้นเมื่อ 24 ตุลาคม 2551, จาก http://apecibiz.dip.go.th /resource /11/clientAssess_chap7.pdf
ณรงค์วิทย์ แสนทอง. (2551). เทคนิคการพัฒนาตนเอง. ค้นเมื่อ 23 ตุลาคม 2551, จาก http://www.peoplevalue.co.th/content/view/182/119/

แนวคิดและปรัชญาที่ช่วยในการดำรงอยู่ภายใต้สถานการณ์ของความรู้และภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่

แนวคิดและปรัชญาที่ช่วยในการดำรงอยู่ภายใต้สถานการณ์ของความรู้และภายใต้บริบทของโลกยุคใหม่
สุภาพ ทับทิมไทย

สังคมในโลกยุคใหม่ (Post-modernization) เป็นสังคมที่มีความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสังคม เศรษฐกิจ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสารเป็นอย่างมาก สังคมในโลกยุคใหม่มีความแคบลงมีการลื่นไหลระหว่างวัฒนธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้เราต้องมีสติ และใช้ปัญญา ใช้ความคิดในการที่จะรับสิ่งต่าง ๆ ที่ บางสิ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่บางสิ่งก็เป็นสิ่งที่อาจทำให้เกิดผลเสียได้ แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นแนวคิดที่จะช่วยให้เรา สามารถอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาได้ เพราะ เป็นแนวคิดที่ยึดหลักความสมดุล และพึ่งตนเองได้ มีคุณภาพ สมานฉันท์และเอื้ออาทร รักใคร่ สามัคคี มีความร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลกัน นอกจากนี้แนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ยังสร้างสรรค์ความรู้ และใช้ความรู้สร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาสังคม เช่น มีการสร้างองค์กรแห่งการเรียนรู้ ในลักษณะที่สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันได้ เป็นลักษณะเครือข่าย ที่สามารถแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องและตลอดเวลา
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้เราเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม มีความสุขทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีคุณธรรมมีจริยธรรม และมีวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อี่นได้อย่างมีความสุข ทำให้เราเป็นผู้ที่มองปัญหาได้กว้าง คิดไกล คิดเป็น คิดสร้างสรรค์และรักการเรียนรู้ตลอดชีวิต สามารถสร้างความรู้ใหม่ ประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ สามารถเชื่อมโยงความคิดไปสู่ความรู้อื่นช่วยต่อยอดองค์ความรู้เพิ่มยิ่งขึ้น ทำให้เรามีใจรักที่จะทำงาน กระตือรือร้น และมีพลวัตในตนเองสูง เหล่านี้เป็นแนวคิดที่จะทำให้เราดำรงอยู่ภายใต้สถานการณ์ของความรู้ของโลกยุคใหม่ที่มีความแปลกแยกทางสังคม ศาสนา และวัฒนธรรม โดยที่เราจะมีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย สามารถที่จะบูรณาการวิถีชีวิตในสังคมไทยกับสังคมในโลกสากลได้อย่างมีความสุข

การผสมผสานของปรัชญา

การผสมผสานของปรัชญา
สุภาพ ทับทิมไทย

ปรัชญาการศึกษาในปัจจุบันที่ช่วยให้มนุษย์ ได้เชื่อมโยง ความรู้ ความคิดรวบยอด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้โดยองค์รวมนั้น ได้เน้นที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ ทำให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้ กระตุ้นให้เกิดความคิด และตระหนักคิด ถึงการเชื่อมโยงความรู้ จัดการความคิด Mind Management มีทัศนะกว้างไกล จากประสบการณ์จริงที่ได้เรียนรู้ โดยผสมผสานความรู้ คุณธรรม ค่านิยม และ พฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งการเรียนรู้ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน พึ่งพาอาศัยกัน และได้ผสมผสานระหว่างกันในทุก ๆ มิติ ทำให้มนุษย์มีความลึกซึ้งและเข้าใจในสิ่งที่ได้เรียนรู้ เข้าใจในเจตคติของตนเอง ของสังคมที่ได้อาศัยอยู่ ทำให้รู้จักเคารพสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น
ในแนวทางของระบบประชาธิปไตย และคำนึงถึงความคิดเห็นและผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก เป็นการเพิ่มศักยภาพ และเกิดการพัฒนาตนเองได้ตลอดช่วงชีวิต มนุษย์จำเป็นต้องเข้าใจแนวคิดในการผสมผสานอย่างลึกซึ้ง เพื่อปรับตัวเองให้ก้าวทันต่อโลกในยุคปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น ข่าวสาร การศึกษา เทคโนโลยี เศรษฐกิจ และการสื่อสารที่สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างรวดเร็วในโลกไร้พรมแดนแห่งนี้
ยกตัวอย่างเช่น การที่มนุษย์นำหลักปรัชญาหลาย ๆ แนวคิดมาผสมผสานในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประสิทธิภาพ ได้แก่ แนวคิดด้านจิตวิทยาที่มุ่งเน้นถึงความเข้าใจในหลักการและแนวทางการแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ในองค์กร เกิดการเรียนรู้ในพฤติกรรมของมนุษย์ เพื่อที่จะปรับตัวเข้าหากันได้ รู้ถึงความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และสิ่งเร้าหรือแรงเสริมใดบ้างที่จะช่วยให้มนุษย์เกิดการเรียนรู้, แนวคิดด้านเศรษฐศาสตร์ในด้านทฤษฏีการใช้ทรัพยากรที่จำกัด ใช้ได้อย่างยั่งยืน และมองมนุษย์ให้เป็นทุน (ทุนมนุษย์) ที่จะช่วยให้องค์กรมีผลประกอบการที่ดีขึ้น มีกำไร รายได้ เศรษฐกิจดีขึ้น มีวิธีการจัดการได้อย่างเป็นระบบ วางรากฐานให้แก่สังคม และคนรุ่นหลังอีกด้วย รวมทั้งปรัชญาแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสามารถพัฒนาในตัวของมนุษย์เอง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และประเทศชาติได้อย่างยั่งยืนในรู้จักกิน รู้จักใช้ ไม่ฟุ่มเฟือย นั่นคือ การพึ่งพอใจในสิ่งที่ตัวเรามีอยู่ ซึ่งเป็นหลักปรัชญาที่สามารถเข้ากับโลกปัจจุบันที่นับวันจะทวีความรุนแรงในด้านการแข่งขันซึ่งทำให้สังคมเกิดการเอาเปรียบซึ่งกันและกันได้
การศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะช่วยให้มนุษย์มีความรู้ ความสามารถ ซึ่งแนวคิดในการผสมผสานในการจัดการการเรียนรู้เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้มนุษย์เกิดความรู้ และรู้จักที่จะคิดรวบยอด เพื่อเชื่อมโยงกับความรู้อื่น ๆ หรือทักษะเข้านั้นไว้เข้าด้วยกัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง และยังช่วยให้ศัลยกรรมมนุษย์ให้เพียบพร้อมในองค์รวมได้นั่น ต้องอาศัยความตั้งใจจริง ทุ่มเททั้งความรู้และความสามารถ และเวลาอย่างเต็มที่ ได้รับความสนับสนุนจากครูผู้สอนที่จะคอยปรึกษาให้แนวทางให้ผู้เรียน สามารถนำความรู้ที่ได้ศึกษาด้วยตนเอง จากสิ่งแวดล้อม หรือจากการเรียนรู้ร่วมกัน มาประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้เกิดศักยภาพมากยิ่งขึ้น

การพัฒนาตนเอง กับ สิ่งที่ตนเองรัก

การพัฒนาตนเองกับสิ่งที่ตนเองรัก
สุภาพ ทับทิมไทย

ความรู้ที่ผมมีมากที่สุด คือ การตัดต่อเพลง mix เพลง หรือ เปิดเพลงเต้นรำได้ ซึ่งเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งของตัวผมเอง ในอดีตผมเคยทำงานด้านเปิดเพลงเต้นรำ เป็นดีเจ ตามคลับ ซึ่งผมสนใจมาก ๆ เป็นพิเศษ สนุกสนาน และหลงใหล ไปกับเสียงเพลงที่ผมได้เปิด แล้วมีลูกค้า เต้นรำอย่างสนุกสนาน ในเสียงเพลงที่ผมเลือกสรร เป็นอย่าดีได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด ตอนที่ผมสนใจครั้งแรก เมื่อตอนที่ผมได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงหลาย ๆที่ ผมจะชอบมองไปที่บู๊ทดีเจ ดูลีลาดีเจหลาย ๆ คน เปิดเพลง และ จะคิดตามไปว่า ถ้าผมเก่งแบบพวกเขาก็ดีนะ ผมพยายามศึกษาเพลงหลากหลายแนว รู้จักศิลปินต่าง ๆ พยายามศึกษาเครื่องเสียง เครื่องเล่นแผ่น เครื่องมิกซ์เสียงหลาย ๆ ยี่ห้อ และผมก็พยายามที่จะลองเปิดเพลงเองที่บ้าน ซึ่งตอนนั้นผมลองใช้เทปคลาสเซท ธรรมดา ต่อเพลงกัน ผมลองพยายามอยู่หลายครั้ง แต่การมิกซ์เพลง ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะคุณต้องรู้จัก จังหวะ ห้องเพลง beat รู้จักเพลง รู้จักเสียงกลอง กระเดื่อง สะแน รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ เพื่อการต่อเพลงจะได้เนียน ไม่สะดุด ตอนผมลองครั้งแรก ผมก็จะทำแบบมั่ว ๆ เพราะไม่มีใครสอน ฝึกเปิดเพลงเป็น 2 – 3 ชั่วโมง จนข้างบ้านรำคาญผมมาก ๆ มายืนด่าหน้าบ้านเลยครับ ผมถึงเลิก แต่แค่นั้นไม่หยุดผมได้ง่าย ๆ หรอกครับ ก็คนมันรักไปแล้ว วันหลังผมก็เปิดอีก หลังจากนั้นได้ไม่นาน โอกาสได้เปิดให้ผมเอื้อมมือไปสัมผัสสิ่งที่ผมรักมาก ๆ มีบริษัทมหาจักร ซึ่งทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องเสียงชั้นนำของโลก ได้เปิดโอกาสให้บรรดาคนที่สนใจในการเปิดเพลงดีเจ อบรมวิธีการมิกซ์เพลง เปิดเพลงเต้นรำ ซึ่งได้มีคนไปสมัครกันมากมาย พอผมได้ข่าวผมไปสมัครคนที่หนึ่งเลยครับ เพราะนอกจากได้เรียนรู้วิธีการ ขั้นตอน ในสิ่งที่ผมรักแล้ว ผมยังได้มีโอกาสสัมผัสเครื่องเสียงระบบไฮเทคต่าง ๆ มากมาย ได้มีเพื่อนใหม่ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความรู้หลายเรื่องที่ผมไม่เคยรู้ ได้รู้จักดีเจมืออาชีพ ได้เห็นวิธีการทำงานของพวกเขาอย่างใกล้ชิด และมีอีกสิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้เพิ่มเติม คือ วิธีการประกาศไมค์ เพราะ
ดีเจส่วนใหญ่ นอกจากเปิดเพลงแล้ว ยังต้องใช้ลีลาในการพูด ประกาศ เพื่อเพิ่มสีสัน บรรยากาศ ให้ลูกค้าสนุกสนานเพลิดเพลินด้วย แรก ๆ ผมก็ยังพูดไม่ค่อยเก่งมากเท่าไหร่ แต่ผมก็พยายามไปหาคอร์สฝึกอบรมเพิ่มเติม ในการเป็นผู้ประกาศ นักจัดรายการวิทยุ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้ผมตัดสินใจ เข้ามาศึกษาการจัดรายการวิทยุ ในระดับปริญญาตรี ของคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนจบและได้รับปริญญาตรีตามความตั้งใจ และมุ่งมั่นของผม ความรู้ต่าง ๆ ที่ผมได้รับ ทำให้ผมได้ทำงานที่เกี่ยวกับด้านดนตรี เสียงเพลง ในสถานบันเทิงชั้นนำของประเทศไทย ได้ร่วมงานกับองค์กรใหญ่ ซึ่งผมได้ใช้ทักษะต่าง ๆ ที่มี แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะช่วยองค์กร จัดรายการเสียงตามสายประชาสัมพันธ์ ข่าวสาร ข้อมูลต่าง ๆ ให้บรรดาพนักงานได้รับทราบ ความเคลื่อนไหวภายในองค์กร, เป็นพิธีกร ในกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กร ไม่ว่าจะเป็นงานเลี้ยงพนักงานประจำปี งานคริสมาส ปีใหม่ ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันผมได้ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ อยู่ที่แผนกฝึกอบรม ขององค์กร ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่ผมถนัด รู้จักวิธีการพูดต่อที่ชุมชน กล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ มีมนุษยสัมพันธ์ กับผู้อื่น ได้รู้จักวิธีการให้บริการแก่ลูกค้า และทำให้ผมเป็นคนอารมณ์ดีเสมอ และเป็นที่รักต่อเพื่อนร่วมงาน เพื่อนที่เรียนปริญญาโทด้วยกันที่มหาวิทยาลัย และท้ายสุด กับครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่งของผม

โยคะ กับ การพัฒนาตนเอง

โยคะ กับ การพัฒนาตนเอง
สุภาพ ทับทิมไทย

อโรคา ความไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ หลาย ๆ คนคงต้องการมีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ผมมีวิธีการหลายหลายวิธีในการดูแลตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหารถูกหลักโภชนาการ, การดูแลสถานที่อยู่อาศัย สถานที่ทำงานให้สะอาดถูกหลักอนามัย, หมั่นตรวจเช็คร่างกายอยู่เป็นประจำ, ดูแลสุขภาพของตัวเองให้แลดูสะอาด มีบุคลิกดี และนอกจากนี้การออกกำลังกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ การออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วยทำให้เรามีร่างกายที่แข็งแรง จิตใจแจ่มใส ซึ่งมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายให้เราเลือกออกกำลังกายได้ตามที่เราชอบ เช่น การฝึกโยคะ
โยคะเป็นภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า โยค ( yoke ) แปลว่า การรวม ( union ) ซึ่งหมายถึง การรวมร่างกาย จิตใจและวิญญาณเข้าด้วยกัน (อรชร อินทกุล, 2551) ก่อนหน้าที่ผมจะได้มาเล่นโยคะนั้น ได้ออกกำลังกายหลากหลายอย่าง ไม่ว่าจะ เล่นฟุตบอล ว่ายน้ำ เล่นฟิตเนต ฯลฯ แต่การเล่นโยคะได้แตกต่างจากการออกกำลังกายอื่น ๆ เพราะมันทำให้ผมรู้สึกสบายทั้งตัวและจิตใจ ทำให้หายเหนื่อยจากการทำงานหนักมาตลอดทั้งวัน ทำให้รู้สึกหายปวดเมื่อยตามร่างกาย รู้สึกผ่อนคลายหลังการฝึก ซึ่งก่อนหน้านั้นผมต้องไปนวดตัวตามร้านนวด สปา อยู่เป็นประจำ เดี๋ยวนี้ผมไม่ค่อยไปร้านดังกล่าวเท่าไหร่ เพราะโยคะช่วยในเรื่องของการฝึกเหยียดกล้ามเนื้อด้วยท่าต่าง ๆ ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ดีขึ้น ทำให้หลอดเลือดขยายตัวและเลือดสามารถไหลเวียนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้มากขึ้น นอกจากนี้การเล่นโยคะยังเป็นการฝึกควบคุมการหายใจ ก่อนหน้านั้นผมจะหายใจไม่ค่อยปกติ คือ มีความรู้สึกว่าหายใจไม่ค่อยเต็มปอด เหมือนมันติด ๆ ขัด ๆ ไม่ค่อยโล่งจมูกเท่าไหร่ แต่ตอนนี้ผมหายใจได้มากขึ้น และ สามารถหายใจเข้า ออก ได้ตลอด เหมือนมีสติอยู่ตลอดเวลา และยังควบคุมการหายใจได้ดียิ่งขึ้น ครูสอนโยคะได้สอนให้รู้จักฝึกจิตให้จดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้าออก สอนให้รู้จักฝึกสมาธิ เพราะการเล่นโยคะ ท่าบางท่าต้องอาศัยสมาธิมาก ๆ ถ้าเราขาดสมาธิก็ไม่สามารถเล่นท่านั้นได้ ทำให้มีสมาธิมากยิ่งขึ้น และผมได้นำมาใช้ในชีวิตประจำวัน และการทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น เมื่อก่อนผมไม่ค่อยมีสมาธิ เวลานั่ง ฟัง หรือคิด ก็จะไม่ค่อยตั้งใจ รีบ ๆ ทำเพื่อให้เสร็จเร็ว ๆ โดยปราศจากระบบความคิด ขาดการพิจารณา แต่พอผมได้ฝึกโยคะ ผมเริ่มรู้สึกว่าตัวเองได้พัฒนา ทั้งร่างกาย และจิตใจได้ดีเป็นอย่างมาก เป็นการฝึกอีคิว ช่วยทำให้ใจเย็นลง การหายใจช้า ๆ และลึกในขณะที่เริ่มหงุดหงิด โกรธหรืออารมณ์ขุ่นมัว ช่วยระบายความตึงเครียด ทำให้ผมมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับบุคคลอื่น ใจเย็น รับฟังผู้อื่นมากยิ่งขึ้น และสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ ลดความวิตกกังวล และการฝึกโยคะยังช่วยให้บุคลิกดียิ่งขึ้น ผิวพรรณดี หน้าตาอ่อนเยาว์ ชะลอความแก่ ช่วยลดน้ำหนักและกระชับกล้ามเนื้อ ซึ่งช่วยรักษารูปร่างให้ได้สัดส่วนที่สวยงาม กระตุ้นสมองให้มีความจำดียิ่งขึ้น และนอกจากนี้ยังทำให้ระบบอวัยวะภายในได้รับการนวด ระบบภายในได้รับการบำบัด และช่วยล้างสารพิษที่สะสมในร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงยิ่งขึ้น หลังการฝึกโยคะ ทำให้ผมนอนหลับสบาย และหลับสนิท พักผ่อนได้เต็มที่ และตื่นขึ้นมาด้วยความสดชื่น พร้อมรับวันใหม่ด้วยพลังแห่งความสุข ในสังคมที่มีแต่ความวุ่นวาย ความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกที่เต็มไปด้วยความแข่งขัน ซึ่งการเล่นโยคะ ก็ถือว่าเป็น วิถีแห่งความสุข ของผม ที่สามารถพัฒนา ร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ ให้ผมได้อยู่ในความสงบในขณะที่จิตต้องมีสมาธิ พร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ เป็นสิ่งที่ตอบคำถามในใจที่ผมต้องการถามว่า อะไรคือสิ่งที่ตัวผมต้องการที่สุดในชีวิต สิ่งนั้นก็คือ การมีชีวิตที่มีสุขภาพดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ร่างกายแข็งแรง มีชีวิตอยู่กับครอบครัว อยู่กับคนที่เรารักอย่างนานแสนนาน ซึ่งเป็นสิ่งที่เงินก็ไม่สามารถซื้อหาได้ นอกจากเราต้องดูแลตัวเอง เดินทางสายกลาง ไม่ทำงานหนักจนเกินไป ห่วงที่จะหาเงินมาก ๆ จนลืมดูแลสุขภาพของตัวเอง ซึ่งจะทำให้เราไม่สามารถที่จะพัฒนาตนเองได้ทั้ง ร่างกาย และจิตใจ


บรรณานุกรม

อรชร อินทกุล. (2551). โยคะเพื่อสุขภาพ. ค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2551,
จาก http://www.vk.ac.th /index.php?name=Content&pa=showpage&pid=1