วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้

ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้
ประพนธ์ ผาสุขยืด. (2544).ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้ . ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2551, จาก http:// www. kmi.or.th/document /K _ wisdom.doc

สรุปสาระสำคัญ
ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่วนเวียนอยู่ด้วยกัน และไม่สามารถแยกจากกันได้ ซึ่งปัญญาจะต้องมาจากศีล และสมาธิ ตามหลักไตรสิกขา กล่าวคือถ้าไม่มีสมาธิ ก็ไม่เกิดปัญญา และถ้าไม่มีศีลก็จะไม่มีสมาธิ แต่ ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้เป็นสิ่งที่แตกต่างกัน เพราะ ความรู้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับสมอง เป็นสิ่งที่สามารถเพิ่มพูนได้จากการที่เราอ่าน ตำรา หนังสือ ในขณะที่ปัญญานั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับจิตใจ ที่จะสามารถอ่านจิตใจ อ่านอารมณ์ ความรู้สึกต่าง ๆ ได้ และสิ่งที่สำคัญต้องสามารถอ่านความรู้สึกและทันต่ออารมณ์ของตนเองได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความรู้สูงไม่จำเป็นจะต้องเป็นผู้ที่มีปัญญาเสมอไป
นอกจากนี้ยังมีคำที่เกี่ยวข้องอีกสองคำ คือคำว่า สารสนเทศ(information) และ ข้อมูล (data) และสามารถนำทั้งสองสิ่งมาสร้างเป็นความรู้ (knowledge) ได้ การเรียนรู้ เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตของเรา ซึ่งควรที่จะเข้าใจระดับในการเรียนรู้ต่าง ๆ กล่าวคือ ระดับแรก เป็นการรู้จำ ได้แก่การเรียนรู้ตามตำรา ตามตัวหนังสือ และมุ่งเน้นการท่องจำ ระดับที่สองจะเป็นการเรียนรู้จริง ในระดับนี้จะเน้นที่ความเข้าใจเป็นหลัก ต้องอาศัยข้อมูล การวิเคราะห์ เพื่อหาเหตุและผล เกิดความแจ่มชัด และนำไปอิงการปฏิบัติได้ ซึ่งได้จากประสบการณ์จริง ๆ (learning by doing) การเรียนรู้จำ และการเรียนรู้จริง ทั้งสองอย่างทำให้เกิดการคิดเป็น ทำเป็น ระดับสุดท้ายคือ การเรียนรู้แจ้ง เกิดจากความเข้าใจ จากสามัญสำนึก และจิตวิญญาณ ของเรา และทำให้เกิดการ คิดถูก ทำถูก ด้วยเช่นกัน


วิเคราะห์ วิจารณ์
มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะประสบความสำเร็จในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน การศึกษา ชีวิตครอบครัว เป็นต้น สิ่งที่ทำให้เข้าไปถึงในจุดนั้นได้ ต้องเกิดจากการเรียนรู้ ซึ่งในปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารที่มีอย่างมากมาย ทำให้เกิดแหล่งความรู้ต่าง ๆ และจำเป็นที่จะต้องใช้สติ ในการวิเคราะห์ เลือกรับข้อมูลที่จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางสร้างสรรค์ หรือเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ค่านิยม ได้ ทำให้เกิดปัญญาตามมาที่จะช่วยให้สามารถวิ่งทันโลก ปรับตัวทันเวลา และพัฒนาต่อยอดความรู้ต่าง ๆ เหล่านั้นได้ การเรียนรู้ เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งเกิดจากความรู้ ความเข้าใจ ซึ่งหัสชัย สิทธิรักษ์ (2550) ได้กล่าวไว้ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นโดยอาศัยการคิด ทำความเข้าใจ จากข้อมูล (data) แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ แปรรูปไปเป็นข่าวสาร (information) และ นำไปประยุกต์ นำไปปฏิบัติให้เกิด ปัญญา (Wisdom) อันเป็นที่มาของความรู้ ซึ่งสอดคล้องกับหลักธรรมตามพุทธศาสนา คือ หลักไตรสิกขา กาญจนา นาคสกุล (2551) ไตร แปลว่า สาม สิกขา แปลว่า บทเรียน ไตรสิกขา แปลว่า บทเรียน 3 บท หมายถึง หลักปฏิบัติใหญ่ ๆ 3 ประการ คือ ศีล หมายถึง การควบคุมความประพฤติทางกายและวาจา สมาธิ หมายถึง การฝึกจิตให้เกิดความ นิ่ง สงบ เย็น และปัญญา หมายถึง การเกิดความรู้แจ้ง รู้ความจริงของโลก รู้ความจริงของชีวิต ซึ่งทั้ง 3 ข้อจะเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน คล้ายกับ ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้

ข้อเสนอแนะ
ความรู้ ปัญญา และการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งถ้ารู้จักนำมาใช้ให้เป็นประโยชน์ จากข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ที่รับอยู่อย่างสม่ำเสมอ ทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจที่จะสามารถรับความเป็นไปของโลก ปรับตัวได้ทันเวลา มีปัญญาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างถูกวิธี และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในทางสร้างสรรค์ เพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เพื่อบุคคลที่รัก และเพื่อสังคมได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการที่จะต้องเปิดใจที่จะรับการเรียนรู้ใหม่ ๆ และกล้าจะเรียนรู้ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ ลบความเชื่อ ความรู้เก่า ๆ หรือนำมาปรับปรุงพัฒนาให้เกิดข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ใหม่ ๆ


บรรณานุกรม

หัสชัย สิทธิรักษ์. (2550). ความรู้ การเกิด พัฒนาการ และการเรียนรู้ . ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2551, จาก http://www.nstlearning.com/~hussachai/?p=175
กาญจนา นาคสกุล. (2551). อริยสัจ ไตรสิกขา พุทธมามกะ เวไนยสัตว์ อเวไนยสัตว์ . ค้นเมื่อ 2 สิงหาคม 2551, จาก http: //www. sakulthai.com/ DSakulcolumndetail.asp?stauthorid=19&stcolcatid=2 & stcolumnid=946&stissueid=2453

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น